ถ้าเปรียบเทียบพวกเรา ๆ นี่ เอาแค่ Fun Run ระยะทางแค่ 5 กิโลเมตร หรือมินิมาราธอนที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร ยังไม่รู้จะไหวเลยรึเปล่า อย่าเพิ่งไปเอ่ยถึงมาราธอนที่ 42 กิโลเมตรเล้ย แต่สำหรับคุณยาย เชา สมิธ (Chau Smith) นี่ยายบอกเรื่องวิ่งระยะทางมาราธอนนี่ เรื่องจิ๊บ ๆ เลย ว่าแล้วคุณยายก็ขิงให้ดูด้วยการลงวิ่งมาราธอน ไม่ใช่แค่รายการเดียว แต่ลงต่อเนื่อง 7 รายการ 7 ทวีป แล้วไม่ต้องพัก วิ่งต่อเนื่องกันไปเลย 7 วัน เพราะนี่โอกาสพิเศษในวาระฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของคุณยายสมิธ
คุณยายเริ่มวิ่งตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2017 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2017 7 ทวีปที่เธอไปวิ่งก็เรียงตั้งแต่ เพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย, สิงคโปร์, กรุงไคโร ประเทศอียิปต์, อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, การ์เด้นซิตี้ กรุงนิวยอร์ก, ปุนตา อาเรนัส ประเทศชิลี และมาจบที่ เกาะคิงจอร์จ ในแอนตาร์กติกา ทั้ง 7 รายการมาราธอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการวิ่งที่ชื่อว่า ‘Triple 7 Quest’ จัดโดยทีมงาน Marathon Adventures มีผู้ลงสมัครลงวิ่งครบทั้ง 7 รายการเพียงแค่ 8 คน และมี 6 ใน 8 คนที่ลงวิ่งแบบเต็มระยะมาราธอน คุณยายเชา สมิธ คือ 1 ใน 6 คนนั้นและเธออายุมากที่สุด แล้วเธอก็ทำได้สำเร็จโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ
หลังจบการวิ่ง ‘Triple 7 Quest’ คุณยายก็ทำลายสถิติโลกในฐานะ บุคคลอายุมากที่สุดที่สามารถวิ่งมาราธอนต่อเนื่อง 7 รายการใน 7 วัน ได้รับการบันทึกชื่อลงกินเน็สบุ๊ก
สตีฟ ฮิบส์ (Steve Hibbs) นักวิ่งอาชีพวัย 45 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Marathon Adventures ซึ่งสนิทสนมกับคุณยายสมิธเป็นการส่วนตัว ฮิบส์พูดถึงคุณยายว่า เธอคือแบบอย่างของคนที่ใช้ชีวิตได้สุดเหวี่ยงจริง ๆ เขาเคยจัดวิ่งในระยะทางสั้น ๆ มาแล้ว ซึ่งคุณยายสมิธก็มาร่วมวิ่งด้วยแทบทุกครั้ง ไม่แค่นั้นคุณยายยังร่วมกิจกรรมผาดโผนหลายอย่างด้วย อย่างเช่นโหนเชือกลงจากที่สูง (Gorge Swing) เหนือนน้ำตกวิกตอเรีย หรือดิ่งพสุธาจากความสูง 70 เมตร เหนือแม่น้ำแซมบีซี ในแอฟริกา
“สิ่งที่เธอทำมันช่างเหลือเชื่อมาก” สตีฟ ฮิบส์ พูดถึงการวิ่งมาราธอน 7 รายการของคุณยาย
“ถ้าจะต้องอธิบายถึงความเป็นตัวเธอ ผมว่าให้ดูที่ผลลัพธ์นั่นล่ะ ชัดเจนที่สุด เธอต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่ว่าใครจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถออกมาวิ่งและทำสิ่งที่ท้าทายเช่นนี้ให้สำเร็จได้”
คุณยายเชา สมิธ เป็นใครมาจากไหน ทำไมยายถึงได้แข็งแกร่งเพียงนี้ เรามาทำความรู้จักคุณยายกันครับ
คุณยายย้อนเล่าว่าในสมัยสาว ๆ นั้น เรื่องวิ่งไม่ได้อยู่ในความสนใจเธอเลยแม้แต่น้อย
“ฉันกลับมองว่ามันเป็นกีฬาที่น่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ”
ถ้าสังเกตจากรูปร่างหน้าตา จะดูออกว่า เชา สมิธ เป็นชาวเอเซีย เธอเป็นชาวเวียดนามโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี 1947 ในช่วงสงครามอินโดจีน พ่อของเธอเคยเป็นครู พอเกิดสงครามก็ได้เข้าร่วมเป็นทหารกองทัพประชาชนเวียดนาม หรือ เหวียตมิญ แล้วก็เสียชีวิตในระหว่างสงคราม 5 เดือนก่อนเธอเกิด แล้วเพราะเธอเกิดในช่วงระหว่างสงครามนั่นเอง แม่ของเธอจึงต้องรอให้สงครามสงบเสียก่อน ถึงสามารถไปติดต่องานทะเบียนรัฐได้ จึงแจ้งเกิดเธอช้าไป 3 ปี ในวันที่ เชา สมิธ อายุครบ 70 ปี แต่ตามบัตรประชาชนจะลงว่าเธออายุ 67 ปี
พอเธอโตขึ้นมา ก็ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามอีกครั้ง ในสงครามเวียดนาม ที่เวียดนามต้องรบกับทหารอเมริกัน ในตอนนั้นเธออายุได้ 13 ปีแล้ว แต่ก็ต้องเจอกับสะเก็ดระเบิดเข้า บาดเจ็บสาหัส ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์ ทุกวันนี้สะเก็ดระเบิดบางส่วนยังคงฝังอยู่ในแขนขวา และขาขวาของเธออยู่เลย คุณยายสมิธเล่าว่าบางครั้งที่เธอวิ่ง ๆ อยู่ ก็ยังรู้สึกเจ็บเหมือนว่าสะเก็ดระเบิดมันจะทะลุออกมาอยู่เหมือนกัน แต่คุณยายก็มีวิธีเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ด้วยตัวเอง
“ฉันพยายามฝึกจิตของฉันให้นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ ฉะนั้นเวลาที่ฉันรู้สึกเจ็บขึ้นมา ฉันก็คิดถึงอะไรอย่างอื่นในแง่บวก อย่าไปสนใจกับจุดที่เจ็บแบบว่า ‘โอ้พระเจ้า มันเจ็บจังเลย’ ฉันก็แค่คิดถึงอะไรอย่างอื่นที่สวยงามอย่างเช่น น้ำตก แม่น้ำ หรือทะเลสาบ อะไรแบบนี้”
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอมีกำลังใจต่อสู้กับความเจ็บปวดได้ ก็คือน้องชายของเธอเอง ที่ป่วยจากเส้นเลือดในสมองแตกทำให้เป็นอัมพฤกษ์ เธอจึงคิดว่าเธอโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังวิ่งได้อยู่ทุกวันนี้
ย้อนไปในวันที่เกิดสงครามเวียดนาม สมิธได้แต่งงานกับชาวอเมริกัน ซึ่งสามีก็พาเธอย้ายมาอยู่ที่รัฐมิสซูรี ในสหรัฐอเมริกา หลังจากร่วมชีวิตกันได้ไม่นาน ทั้งคู่ก็หย่าขาดจากกัน คุณยายสมิธกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องหาเลี้ยงลูกสาวสองคน เธอจำเป็นต้องทำงาน 2 แห่ง เป็นสาวโรงงาน พอเลิกงานก็มาทำงานในร้านอาหารต่อ แต่ละวันเธอต้องเริ่มงานตั้งแต่ตี 5 และกว่าจะกลับถึงบ้านก็เที่ยงคืนไปแล้ว ภายหลังคุณยายก็ย้ายไปทำงานในแผนกแก้ไขเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าแทน
ในปี 1982 คุณยายสมิธได้พบรักกับ ไมเคิล สมิธ ในงานปาร์ตี้คืนคริสต์มาส หลังคบหากันได้ 6 เดือน ทั้งคู่ก็ตกลงแต่งงานกัน และนี่ล่ะคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิ่งของคุณยายเชา สมิธ นั่นก็เพราะ ไมเคิล สมิธ ผู้นี้คือนักวิ่งตัวยง ในฐานะภรรยาคุณยายสมิธก็ได้แต่นั่งมองสามีวิ่งไปแต่ละวัน ตอนนั้นเธอยังไม่ได้สนใจที่จะวิ่งเลยด้วยซ้ำ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เธอเริ่มมาสนใจวิ่งนั้นมาจาก ความยุ่งวุ่นวาย และความเครียดในชีวิตของคุณยาย ในวันที่คุณยายได้เป็นพลเมืองอเมริกันจึงต้องรับหน้าที่เป็นธุระติดต่อช่วยเหลือญาติพี่น้องอีก 25 คนให้มาตั้งรกรากในอเมริกา ในช่วงนั้นเธอเพิ่งเปิดร้านรับซ่อมเสื้อผ้าของเธอเองด้วย ในช่วงกลางวันเธอจะยุ่งวุ่นวายอยางมากในการติดต่อธุระนู่นนี่นั่นให้ญาติพี่น้อง ทั้งหางาน หาโรงเรียน และไปเยี่ยมดูแลสารทุกข์สุกดิบในแต่ละบ้าน แต่ละรัฐ พอกลางคืนเธอถึงจะได้ลงมือทำงานแก้ไขเสื้อผ้าของเธอเอง
“นั่นล่ะเป็นสาเหตุให้ฉันเริ่มวิ่งกับไมเคิล พอวิ่งแล้วฉันก็รู้สึกดี รู้สึกว่าฉันได้ผ่อนคลายความเครียด มันทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นจริง ๆ หลังจากที่ได้ออกไปวิ่ง”
ในปี 1995 คุณยายเชา สมิธ อายุได้ 48 ปี เธอเริ่มลงวิ่งเป็นทางการครั้งแรกในระยะ 5 กิโลเมตรที่แคนซัส ในวันนั้นเธอมีอาการไข้ละอองฟาง (hay fever) ทำให้เธอต้องกินยาปฏิชีวนะเข้าไปด้วยเพื่อลดอาการไซนัส คุณยายเล่าว่าเป็นการวิ่งที่ยากลำบากมาก เธอเกือบจะหมดสติไประหว่างทางด้วยซ้ำ
“พวกเขาต้องเอาหน้ากากออกซิเจนมาสวมให้ฉัน พอผ่านไปได้ครึ่งชั่วโมงฉันก็เริ่มรู้สึกค่อยยังชั่ว ไมเคิลก็เลยขับรถพาฉันกลับบ้าน ตอนนั้นฉันบอกไมเคิลว่า ‘เฮ้ไมค์ ฉันอยากลองวิ่ง 10 กิโลเมตรดูบ้างนะ’ เขาก็ตอบฉันกลับมาว่า ‘เชา เธอพูดอะไรของเธอน่ะ แค่วันนี้เธอยังแทบจะไม่รอดเล้ย’ แต่ 3 เดือนจากนั้น ฉันก็พิสูจน์ให้เขาเห็น ฉันลงวิ่งฮาล์ฟมาราธอนได้สำเร็จ แล้วจากนี้อะไรก็หยุดฉันไม่อยู่แล้ว”
คุณยายสมิธประเมินคร่าว ๆ ว่าเธอวิ่งมาราธอนมาแล้ว 70 รายการ ทั่วโลก แม้กระทั่ง บอสตันมาราธอน ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเพราะเกิดเหตุระเบิดในปี 2013 เธอก็ลงวิ่งด้วย ตอนที่ระเบิดนั้น เธอเหลือระยะทางอีกแค่ 1/4 ไมล์จะเข้าเส้นชัยอยู่แล้ว แต่ตำรวจก็ยุติการวิ่งเสียก่อน
จากนั้นไมเคิลและเชาต่างก็ลงวิ่งด้วยกันเป็นประจำ ทั้งคู่วิ่งกันมาแล้วหลายรายการทั่วโลก แล้วทั้งคู่ต่างก็โบกมือลาจากกิจกรรมวิ่งในปี 2014 คุณยายก็ตัดสินใจเลิกวิ่งไปแล้วจนกระทั่งมาได้ยินเรื่องโปรแกรมการวิ่ง Triple 7 Quest จาก สตีฟ ฮิบส์ นี่ล่ะ ตอนที่ไมเคิลได้ยินว่า คุณยายเชาสนใจในโปรแกรม Triple 7 Quest นั้น ส่วนตัวเขาไม่ได้สนใจจะไปวิ่งด้วยหรอก แต่ตัวเขาก็เป็นกำลังใจสนับสนุนภรรยาเต็มที่
“หลังจากใช้ชีวิตคู่กับเธอมา 30 ปีกว่าแล้วเนี่ย ผมไม่กล้าพูดแล้วว่าเธอจะทำนั่นทำนี่ไม่ได้หรอก แต่ผมก็ยังเป็นกังวลอยู่นะ เพราะสำหรับกิจกรรมหักโหมหนักหน่วงแบบนี้ ถ้าเกิดบาดเจ็บขึ้นมา ผลของมันจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ ผมไม่อยากเห็นเธอต้องมาบาดเจ็บในวัย 70 แล้วเป็นการยุติกิจกรรมวิ่งที่เธอชอบ”
คุณยายสมิธก็รู้ตัวเองดีว่าในวัย 70 ปีของเธอกับกิจกรรมวิ่งต่อเนื่องหฤโหดแบบนี้มีความเสียงพอดู เธอจึงเตรียมพร้อมก่อนการวิ่งอย่างมาก ทั้งปรึกษากับโค้ชเรื่องการวิ่ง, ปรึกษาแพทย์นักกีฬา, นักกายภาพบำบัด, และนักโภชนาการ แล้วเธอก็สร้างโปรแกรมการฝึกเฉพาะตนขึ้นมาก่อนการวิ่งจริง เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะความแข็งแกร่งให้พร้อม แต่ขณะเดียวกันเธอก็ยังทำงานในร้านตัดเย็บแก้ไขเสื้อผ้าของเธอเป็นปกติ พอเลิกงานเธอก็ฝึกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งปี คุณยายเล่าว่าเธอวิ่งออกกำลังเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในช่วง 4 เดือนก่อนจะถึงงานวิ่ง เธอจึงวิ่งให้หนักขึ้น วิ่งให้ไกลกว่าเดิม และที่สำคัญเพื่อเอาชนะโรคหลอดลมอักเสบ ที่เธอรู้สึกว่าหายขาดได้สำเร็จ เพียงแค่ 1 วันก่อนบินไปวิ่งรายการแรกที่ออสเตรเลีย
กติกาสำคัญข้อหนึ่งในการวิ่ง Triple 7 Quest นั้น นักวิ่งจะต้องจับคู่กับนักวิ่งท้องถิ่น เพื่อให้คู่เป็นคนคอยนำทาง ไม่เช่นนั้นนักวิ่งต่างชาติจะหลงเส้นทางเอาได้ และเงื่อนไขสำคัญและสุดหินของนักวิ่งทั้ง 8 คนนั่นก็คือ ตารางเวลาที่กระชั้นที่สุด นักวิ่งทั้งแปด ที่ลงวิ่งทั้ง 7 รายการนั้น จะต้องเข้าเส้นชัยให้ได้ภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง เพราะจะต้องเตรียมพร้อมในการบินไปประเทศอื่นต่อไป แต่คุณยายสมิธบอกว่า ปกติแล้วเธอสามารถทำเวลาในการวิ่งมาราธอนได้ถึง 5 ชั่วโมงเลยด้วยซ้ำ แต่การต้องมาวิ่งติดต่อกันหลายวันแบบนี้ เธอไม่มั่นใจนักหรอกว่าร่างกายเธอจะไหวไหม คาดว่าไม่น่าจะทำเวลาได้เร็วเหมือนเดิม แต่ถึงอย่างนั้นในการวิ่งทั้ง 7 รายการนั้น สถิติที่ดีที่สุดของคุณยายก็อยู่ที่ 5 ชั่วโมง 51 นาที
รายการที่โหดและน่าจดจำที่สุดของคุณยายคือการวิ่งในอัมสเตอร์ดัม เพราะที่นี่เธอหกล้มก่อนเริ่มวิ่งจริง ทำให้เธอต้องวิ่งทั้ง ๆ ที่หัวเข่าปวดบวม แล้วปากแตกเลือดไหลซิบ ๆ
เหตุผลในการลงวิ่ง Triple 7 Quest ครั้งนี้นั้น นอกเหนือไปจากเป็นการฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของเธอแล้ว คุณยายยังได้ใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งปกติคุณยายบอกว่าเธอไม่ค่อยทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางสังคมนักหรอก แต่งานนี้ ทาย ตรัน (Thy Tran) ลูกสาวคนโตของเธอตั้งใจถักหมวกไหมพรมสีชมพูมาให้เธอใส่โดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อในการเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งเธอก็สวมมันลงวิ่งทุกรายการ แม้กระทั่งอากาศร้อน ๆ ถึง 102 องศา ในเพิร์ธ ออสเตรเลีย
“ฉันหวังว่า ฉันคงไม่ได้ไปทำให้ใครขุ่นเคืองนะ แต่ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันมีลูกสาว ฉันมีหลานสาว และฉันก็ตั้งใจวิ่งเพื่อเป็นตัวแทนผู้หญิงทุกคน ฉันต้องการต่อต้านการกระทำของผู้ชาย คนไหนก็ตาม ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มีอำนาจ และอยากจะทำอะไรกับผู้หญิงคนไหนก็ได้ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากพวกเรา”
ปีต่อมา 2018 Mathon Adventures ได้จัดรายการมาราธอนขึ้นอีกครั้ง แล้วรอบนี้ใช้ชื่อว่า Triple 8 Quest แน่นอนครับ มันคือการวิ่ง 8 รายการต่อเนื่อง 8 ทวีป ใน 8 วัน และไม่ต้องสงสัย คุณยายสมิธได้เข้าร่วม และวิ่งจนจบครบทั้ง 8 รายการโดยสวัสดิภาพ
ปัจจุบันคุณยายเชา สมิธ อายุ 74 ปีแล้ว เธอยังคงแข็งแรงดี และได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้นาฬิกา Garmin ไปแล้วด้วย
คุณยายกลายเป็นฮีโรและแรงบันดาลใจของกลุ่มนักวิ่งไปแล้ว ถึงขนาดว่ามีเว็บไซต์รวบรวมเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ที่คุณยายสวมขณะวิ่ง มาลงขายบนเว็บกันเลย