อ้างอิงจากงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society: ACS) พบว่า การมีอายุมากกว่า 50 ปีและสูบบุหรี่เป็น 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ในขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ นั้นได้แก่ ดัชนีมวลกาย (BMI) อาหาร การออกกำลังกาย และประวัติการเป็นโรคมะเร็งของคนในครอบครัว

การศึกษานี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลของประชากรชาวสหรัฐฯ จำนวน 429,991 คนที่ไม่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็ง และติดตามผลในระยะเวลา 5 ปี เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในระยะเวลา 5 ปี

ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งภายใน 5 ปี นั้นมีอยู่ประมาณ 2% ในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และอาจสูงถึง 29% ในกลุ่มผู้ชาย และ 25% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุมากที่สุดที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยนอกจากปัจจัยด้านอายุแล้วการสูบบุหรี่ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งภายในระยะเวลา 5 ปี

จากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้ง 429,991 ราย มีการตรวจพบมะเร็งทั้งหมด 15,226 เคสในช่วงเวลา 5 ปี โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดนั้นได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งปอดในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งเต้านมและมดลูกบ่อยที่สุด

สำหรับผู้ชาย ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งถัดจากเรื่องอายุและการสูบบุหรี่นั้นได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์, ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง การบริโภคเนื้อแดง และการไม่ออกกำลังกาย

ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงนั้นได้แก่ ดัชนีมวลกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การตัดมดลูก และผู้ที่เคยมีลูกก็พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งภายในระยะเวลา 5 ปีเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น

กลุ่มผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีนั้นมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งมากกว่า 2% เฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปที่ยังคงสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มาน้อยกว่า 30 ปี โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวพบว่า มีความเสี่ยงอยู่ที่ 2.7%

กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีนั้นมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งมากกว่า 2% ในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 35 ปีสำหรับคนที่สูบบุหรี่ ในขณะที่กลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วยอาจมีความเสี่ยงสูงถึง 5.8%

ที่มา: iflscience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส