เรียกว่าเป็นดราม่าประจำฟุตบอลยูโร 2024 เลยก็ว่าได้ จากเหตุการณ์ที่ทางเซอร์เบียขู่จะถอนตัวจากการแข่งขันในศึกฟุตบอลยูโร โดยเรื่องราวต้นตอเกิดขึ้นในเกมระหว่างโครเอเชียพบกับแอลเบเนีย ที่จบเกมเสมอกัน 2-2
ซึ่งในระหว่างเกมการแข่งขัน แฟนบอลของทั้งสองทีมพร้อมใจร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้าน ด่าทอ และสนับสนุนการฆ่าชาวเซอร์เบีย จนเป็นเหตุให้เซอร์เบียไม่พอใจ ขู่ว่าจะถอนตัวออกจากการแข่งขัน หากยูฟ่าไม่จัดการลงโทษทางโครเอเชียและแอลเบเนีย
ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมโครเอเชียกับเซอร์เบียถึงทะเลาะกัน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเคยอยู่รวมตัวในประเทศ ‘ยูโกสลาเวีย’ นอกจากนี้อีกหนึ่งข้อสงสัยว่า ทำไมเซอร์เบียถึงมีปัญหากับแอลเบเนีย ทั้งที่ 2 ประเทศนี้ไม่ได้มีพื้นที่ติดกัน และในสมัยก่อนแอลเบเนียก็ไม่ได้อยู่ในยูโกสลาเวียอีกต่างหาก
อะไรเป็นสาเหตุและต้นตอที่ทำให้พวกเขาไม่ถูกกัน เราจะพาไปไล่เลียงประวัติศาสตร์กัน
ยูโกสลาเวีย
ย้อนกลับในช่วงปี 1943 หลังยูโกสลาเวียได้รับชัยชนะจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางยูโกสลาเวียได้เปลี่ยนตัวเองจากราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ซึ่งปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
โดยยูโกสลาเวีย แบ่งออกเป็น 6 รัฐ ซึ่งประกอบด้วย สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนีย มอนเตเนโก มาซิโดเนีย และเซอร์เบีย โดยมีอีก 2 มณฑลปกครองตัวเอง ซึ่งประกอบด้วย วอยวอดีนา และโคโซโว
ต้องเล่าก่อนว่า โดยพื้นฐานของแต่ละรัฐในยูโกสลาเวียนั้น มีพื้นฐานที่แตกต่างกันมาก ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งชาติพันธุ์ที่มากที่สุดคือเซอร์เบียหรือที่เรียกว่า ‘ชาวเซิร์บ’ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของยูโกสลาเวีย
ซึ่งถึงแม้ยูโกสลาเวียจะมีความแตกต่างกันมากแต่ในยุคการปกครองของโยซิป บรอซ ตีโต ผู้นำชาวเซอร์เบีย ตั้งแต่ปี 1943 -1980 เขาสามารถนำพาประเทศให้อยู่กันได้อย่างสงบสุข สมานฉันท์ เศรษฐกิจมีการเติบโต ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับยูโกสลาเวียคือ ครั้งหนึ่งยูโกสลาเวียเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโรในปี 1976 โดยในปีนั้นเป็นเชโกสโลวาเกียที่สามารถคว้าแชมป์ไปครองได้ ด้วยการเอาชนะจุดโทษเยอรมันตะวันตกในนัดชิงชนะเลิศ
ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเป็นไปได้สวย จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ตีโต ผู้นำประเทศถึงแก่อสัญกรรมในปี 1980 ไม่เพียงเท่านั้นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนคือการขึ้นมาของ สโลโบดาน มิโลเชวิช ในปี 1987 ที่ทำให้ยูโกสลาเวียไม่เหมือนเดิม เข้าสู่ยุคสงครามยูโกสลาเวียเต็มรูปแบบ
สาเหตุที่โครเอเชียไม่ถูกกับเซอร์เบีย
อันที่จริงโครเอเชีย พวกเขาเคยมีความคิดในการที่จะแยกประเทศออกจากยูโกสลาเวียเมื่อนานมาแล้ว ด้วยความแตกต่างในเรื่องพื้นฐานทั้งชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา แต่ในยุคการปกครองของตีโต เป็นช่วงที่ประชาชนในยูโกสลาเวียอยู่กันอย่างสงบสุข สภาพความเป็นอยู่ดี ทำให้ความคิดที่จะแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียน้อยลง
แต่หลังผ่านพ้นยุคของตีโต ความคิดในการอยากแยกประเทศเริ่มกลับมา บวกกับในช่วงนั้นเศรษฐกิจความเป็นอยู่เริ่มไม่ดี ปัญหาความแตกต่างเริ่มมีมากขึ้น จนถึงจุดแตกหักในยุคของสโลโบดาน มิโลเชวิช ในปี 1987
มิโลเชวิช เป็นผู้นำที่มีวิธีคิด วิธีบริหารประเทศที่เข้าข้างฝั่งรัฐเซอร์เบียแบบถึงที่สุด โดยมองว่าชาติพันธุ์เซอร์เบียต้องเป็นใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากกับหลาย ๆ รัฐ รวมถึงโครเอเชียด้วย ส่งผลให้โครเอเชียต้องการที่จะแยกตัวออกจากยูโกสลาเวีย
โครเอเชียประกาศแยกตัวในปี 1991 แต่การประกาศแยกตัวนี้ทำให้ทางฝั่งเซอร์เบียไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดสงครามยูโกสลาเวียขึ้น ทางฝั่งเซอร์เบียได้ส่งกองกำลังเข้าบุกโครเอเชีย
ทางฝั่งโครเอเชียนอกจากจะต้องรบกับเซอร์เบียแล้ว ยังต้องเจอกับการก่อกวนจากประชาชนที่เป็นคนเซอร์เบีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศอีก ทั้งฝั่งพลเรือนและทหารของแต่ละฝั่งต่างเปิดหน้ารบกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้มากกว่าหลักหมื่นคน
ทางสหภาพยุโรปหรือ UN เห็นทีท่าไม่ดีจึงตัดสินใจประกาศคว่ำบาตรยูโกสลาเวีย ส่งผลให้สงครามยุติลง และประกาศอิสรภาพให้กับโครเอเชียในปี 1992
สาเหตุที่แอลเบเนียไม่ถูกกับเซอร์เบีย
อย่างที่รู้กันว่าแอลเบเนียไม่ได้อยู่ในยูโกสลาเวียและไม่ได้มีพื้นที่ติดกับเซอร์เบีย แต่สิ่งที่ทำให้สองประเทศนี้มีปัญหากันคือพื้นที่ที่เรียกว่า ‘โคโซโว’
โคโซโวเป็นมณฑลปกครองตัวเอง เป็นมณฑลเล็ก ๆ ทางตอนใต้ฝั่งตะวันออกของยูโกสลาเวีย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแอลเบเนียทางตอนใต้ และมีพื้นที่ติดกับเซอร์เบียทางตอนเหนือ โดยโคโซโวเป็นมณฑลที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐเซอร์เบีย
ซึ่งในพื้นที่โคโซโวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวแอลเบเนีย ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลทำให้โคโซโวมีความต้องการที่จะแยกตัวออกไปอยู่กับทางแอลเบเนียที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน จึงเริ่มมีการประท้วงเพื่อจะแยกตัวออกมา
โดยมีประเทศแอลเบเนียอยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนโคโซโวให้แยกตัวออกจากยูโกสลาเวีย ส่งผลทำให้ทางฝั่งเซอร์เบียเกิดความไม่พอใจ ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามแบบเด็ดขาดในพื้นที่โคโซโว มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวแอลเบเนียในโคโซโวนับพันคน
สงครามยืดเยื้ออยู่นาน จน NATO เห็นท่าไม่ดีจึงได้ดำเนินการทิ้งระเบิดใส่เซอร์เบีย ทำให้สงครามยุติลงและในปี 2008 โคโซโวได้ประกาศอิสรภาพแยกประเทศออกมาเป็นประเทศตัวเอง
เหตุการณ์ในโลกฟุตบอลที่มีความเกี่ยวข้อง
แน่นอนว่าแม้สงครามจะยุติลงเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ความคับแค้นใจ และความขัดแย้งของชาวโครแอตและชาวแอลเบเนียที่มีต่อเซอร์เบียยังคงอยู่ การร่วมกันร้องเพลงที่มีเนื้อหาด่าทอและต่อต้านชาวเซอร์เบียในฟุตบอลยูโร 2024 นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น โดยเราจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ในโลกฟุตบอลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้กัน
เหตุการณ์ที่ 1 I เซอร์เบีย VS แอลเบเนีย รอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 2016
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2015 ในการแข่งขันคัดเลือกยูโร 2016 ระหว่าง เซอร์เบียกับแอลเบเนีย ที่สนามสตาดิโอ พาร์ติซานา เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีโดรนบังคับปริศนาที่ห้อยธงของแอลเบเนียเข้ามาในสนาม ในช่วงนาทีที่ 41 ของการแข่งขัน ก่อนที่สเตฟาน เปโตรวิช นักเตะเซอร์เบียจะพยายามปลดธงออกจากโดรน สร้างความไม่พอใจให้นักเตะแอลเบเนีย จนเกิดการปะทะกัน
เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแฟนบอลเจ้าถิ่น ลงมาผสมโรงทำร้ายนักเตะแอลเบเนีย ส่งผลให้นักเตะและสตาฟโค้ชของแอลเบเนียต้องหนีตายไปหลบในอุโมงค์ ผู้ตัดสินจึงตัดสินใจสั่งยกเลิกเกมนี้ในทันที
เหตุการณ์ที่ 2 I กรานิต ชาก้า กับ เซอร์ดาน ชากิรี่ ในฟุตบอลโลก 2018
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเกมระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับเซอร์เบีย ในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ โดยในเกมนั้นผลการแข่งขันเป็นฝั่งสวิตเซอร์แลนด์ที่เอาชนะไปได้ 2-1
ปัญหาเกิดขึ้นในการฉลองประตูทั้งสองลูก โดยทั้งกรานิต ชาก้า และเซอร์ดาน ชากิรี่ ต่างฉลองด้วยการทำท่าสัญลักษณ์มือเป็น ‘นกอินทรีคู่สยายปีก’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติแอลเบเนีย
ซึ่งสาเหตุมาจากทั้ง ชาก้า และชากิรี่ นั้นต่างมีเชื้อสายแอลเบเนียทั้งคู่ พ่อของชาก้านั้นเป็นชาวแอลเบเนียที่ถูกจับกุมในช่วงสงคราม ส่วนชากิรี่ ครอบครัวของเขาก็ได้รับผลกระทบจากสงครามในพื้นที่โคโซโว