งานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 33 กำลังจะเปิดฉากขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อย่างที่รู้กันว่า โอลิมปิก เป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ จึงทำให้หลากหลายประเทศมีความต้องการที่จะเสนอประเทศของตัวเองเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ และศักยภาพของประเทศ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการซื้อขาย

แต่อย่างไรก็ดีการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่ใครหลายคนคิด เนื่องจากสถิติที่ผ่านมานั้นมีเจ้าภาพแค่รายเดียวที่ได้กำไรจากการจัดโอลิมปิกนั่นคือ สหรัฐอเมริกาในปี 1984 นอกนั้นขาดทุนทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ขาดทุนมากที่สุดก็คือแคนาดา ในโอลิมปิกครั้งที่ 21 ที่เมืองมอนทรีออล ในปี 1976 ที่ทำให้แคนาดาเกือบล้มละลาย

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้แคนาดาขาดทุนมากขนาดนั้น เราจะพาไปไล่เรียงกัน

ต้นทุนที่สูงเกินไป

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลในการลงทุนเพื่อให้เป็นตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ที่จะกำหนดมาตรฐานในเรื่องต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้านนักกีฬา ระบบคมนาคม และที่สำคัญที่สุดคือสนามกีฬา

โดยหลังจากที่แคนาดาชนะการประมูลและได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพแล้ว พวกเขาได้คาดการณ์งบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ไว้ที่ 120 ล้านดอลลาร์แคนาดา โดยแบ่ง 71 ล้านดอลลาร์แคนาดา สำหรับสร้างสนามกีฬาเพื่อใช้ในการแข่งขัน

แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้ กลับแตกต่างกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่าจากที่ประเมินไว้ โดยในปีนั้นพวกเขาใช้งบประมาณในการจัดการแข่งขันไปถึง 1,600 ล้านดอลลาร์แคนาดา โดยแบ่งเป็นงบประมาณการก่อสร้างสนามกีฬาถึง 1,100 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมากในเวลานั้น

โดยสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนสนามกีฬาสูงขนาดนี้เป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาด้านเทคนิคในการสร้างสนาม ต้นทุนวัสดุการก่อสร้างที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตน้ำมัน วิกฤตเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาค่าวัสดุเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากเดิม และอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การประท้วงหยุดงานของแรงงานก่อสร้างที่ทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า

ส่งผลให้ต้องมาเร่งก่อสร้างในช่วงท้ายเพื่อให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา ซึ่งยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับแรงงานที่ต้องก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้สนามกีฬาแห่งนี้มีต้นทุนการก่อสร้างสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 720% เลยทีเดียว ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้สนามโอลิมปิกแห่งนี้ที่มีชื่อว่า “The Big O” โดนเปลี่ยนชื่อเป็น “The Big Owe” ที่แปลว่า การติดหนี้ขนาดมหึมา

สนามกีฬา The Big O สนามกีฬาโอลิมปิกที่เมืองมอนทรีออล

นอกจากต้นทุนการก่อสร้างสนามกีฬา อีกหนึ่งต้นทุนที่แคนาดาได้รับผลกระทบก็คือ ต้นทุนการรักษาความปลอดภัย ที่เพิ่มสูงขึ้น 80% จากโอลิมปิกครั้งก่อน เนื่องจากในโอลิมปิกปี 1972 ที่มิวนิค มีการก่อการร้ายเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้งบมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์แคนาดา 

การคอร์รัปชัน

สิ่งที่เป็นปัญหานอกจากเรื่องที่กล่าวมา ก็คือการคอร์รัปชัน โดยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันมากมายในการสร้างสนามแห่งนี้ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีทั้งผู้รับเหมาในการสร้างสนาม นายกเทศมนตรี และคนในสภาเมืองมอนทรีออล ซึ่งแม้ในเวลาต่อมาผู้คนเหล่านี้จะถูกจับกุม และถูกตัดสินให้จำคุกในข้อหาฉ้อโกง แต่นั่นไม่สามารถทำให้หนี้ที่พวกเขาก่อไว้ลดลงได้

รายได้ที่ลดลง

รายได้ที่ลดลงนั้น สาเหตุหลักมาจากการโดนคว่ำบาตรจากชาติในแอฟริกาถึง 22 ประเทศ เพื่อเป็นการประท้วงการได้เข้าร่วมโอลิมปิกของทีมรักบี้นิวซีแลนด์ โดยก่อนที่จะมีการแข่งขันโอลิมปิก ทีมรักบี้ของนิวซีแลนด์ได้ไปเที่ยวแอฟริกาใต้ และมีดราม่าเรื่องการเหยียดสีผิว ด้วยปัญหานี้นำไปสู่การถอนตัวของชาติต่าง ๆ ถึง 30 ประเทศ โดยปีนั้นชาติในทวีปแอฟริกามีเพียง ไอวอรีโคสต์ และเซเนกัล เท่านั้นที่เข้าร่วมแข่งขัน

สิ่งเหล่านี้ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มอนทรีออลในปี 1976 มีรายได้รวมอยู่เพียง 606 ล้านดอลลาร์แคนาดา โดยแบ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณไม่เกิน 135 ล้านดอลลาร์แคนาดาเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับเงินลงทุนที่เสียไปกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์แคนาดา

เรียกว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับแคนาดา และประเทศที่ต้องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการจัดโอลิมปิกในครั้งนี้ส่งผลให้แคนาดาเป็นหนี้ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์แคนาดา ทำให้พวกเขาเกือบล้มละลาย โดยต้องใช้เวลาเกือบ 30 ปี กว่าจะจ่ายหนี้ก้อนนี้หมด แน่นอนว่าในปัจจุบัน นี่ยังคงเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ในใจของชาวเมืองมอนทรีออลและ แคนาดาที่ยังคงไม่อาจลบเลือนลงได้