โอลิมปิกที่ผ่านมาประเด็นการตรวจเพศถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับการถกเถียงในวงกว้าง จากกรณีของอิมาน เคลิฟ ที่ไม่ผ่านการตรวจเพศตามข้อกำหนดของสมาคมมวยสากลนานาชาติ (International Boxing Association – IBA) เนื่องจากการตรวจเพศที่ดำเนินการโดย IBA มีการรวมการตรวจโครโมโซมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากการตรวจเพศในกีฬาโอลิมปิกที่มีการปรับปรุงกระบวนการโดยใช้การตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียว

ล่าสุด “บี” จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักกีฬามวยสากลหญิง ทีมชาติไทย รุ่น 66 กิโลกรัม เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2024 ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคุยแซ่บ SHOW ทางช่อง ONE31 เมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ในประเด็นการถูกตรวจเพศจากประสบการณ์โดยตรงว่า ตนเองถูกตรวจโดยการมองด้วยตา ซึ่งต้องถอดกางเกงออกหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการส่องดูจากอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นวิธีที่เบสิกมาก ๆ และเก่าแก่มาก ๆ และเป็นอีกหนึ่งวีธีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและขาดความแม่นยำ

การตรวจเพศนักกีฬามีหลายวิธี แบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

  • การตรวจร่างกายภายนอก: ในช่วงแรกของการตรวจเพศนักกีฬา วิธีนี้เป็นการประเมินลักษณะทางกายภาพภายนอกของนักกีฬา เช่น ลักษณะของอวัยวะเพศและลักษณะทางกายวิภาคอื่น ๆ เช่น บางคนอาจมีอวัยวะเพศที่ไม่ชัดเจน หรือมีอวัยวะเพศที่ดูเหมือนอีกเพศ แต่มีระบบสืบพันธุ์ภายในร่างกายเป็นอีกเพศหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการตรวจรูปแบบนี้
  • การตรวจโครโมโซม: วิธีนี้มักใช้การตรวจดีเอ็นเอของนักกีฬาเพื่อระบุโครโมโซมเพศ เช่น การตรวจหาความมีอยู่ของโครโมโซม X และ Y โดยวิธีนี้เคยถูกใช้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม มันถูกลดบทบาทลง เนื่องจากไม่สามารถสะท้อนถึงเพศตามสภาพจริงของบุคคลได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในกรณีของภาวะอินเทอร์เซ็กซ์
  • การตรวจระดับฮอร์โมน: ปัจจุบันการตรวจระดับฮอร์โมนโดยเฉพาะเทสโทสเทอโรน เป็นวิธีหลักที่ใช้ในการตรวจเพศนักกีฬาในหลายการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยมีเกณฑ์ที่กำหนดระดับเทสโทสเทอโรนสูงสุดที่นักกีฬาหญิงสามารถมีได้เพื่อให้สามารถแข่งขันในประเภทหญิงได้ วิธีนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพราะสะท้อนถึงผลกระทบของฮอร์โมนต่อสมรรถภาพทางกายภาพ
  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing): การตรวจทางพันธุกรรมเป็นวิธีที่ลึกซึ้งกว่า และอาจใช้ในบางกรณีเพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับยีนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพศ วิธีนี้ช่วยให้เข้าใจภาวะทางพันธุกรรมที่ซับซ้อน เช่น ภาวะอินเทอร์เซ็กซ์
  • การประเมินทางการแพทย์และจิตวิทยา: ในกรณีที่ซับซ้อน เช่น ภาวะอินเทอร์เซ็กซ์ หรือเป็นผู้ที่เปลี่ยนเพศ (Transgender), การประเมินทางการแพทย์และจิตวิทยามักจะถูกนำมาใช้ร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียด และตัดสินใจเกี่ยวกับความเหมาะสมในการแข่งขัน

จุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการของการตรวจเพศ

การตรวจเพศในกีฬามีการนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 โดยในตอนแรกเป็นการตรวจร่างกายภายนอก ซึ่งนักกีฬาหญิงบางคนต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันเพศของตนเอง วิธีนี้มักจะทำให้เกิดความอับอายและไม่สบายใจสำหรับนักกีฬา ในปี 1967 มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจเพศเป็นการตรวจโครโมโซม ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีวิทยาศาสตร์รองรับมากขึ้น โดยนักกีฬาหญิงจะต้องเข้ารับการตรวจเพื่อดูว่าโครโมโซมของพวกเธอเป็น XX (เพศหญิง) หรือไม่ วิธีนี้ถูกใช้ในโอลิมปิกและการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษ 2000 มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตรวจเพศอีกครั้ง โดยลดการพึ่งพาการตรวจโครโมโซมและหันมาใช้การตรวจระดับฮอร์โมนแทน โดยเฉพาะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะทางกายภาพและพละกำลัง การตรวจระดับฮอร์โมนถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดเพศของนักกีฬาในหลายประเภทกีฬา

ปัจจุบัน การตรวจเพศในนักกีฬาได้พัฒนาไปในทิศทางที่เน้นความยุติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชนของนักกีฬามากขึ้น มีการใช้วิธีการตรวจที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น และในบางกรณีมีการพิจารณาถึงเพศสภาพที่นักกีฬาแสดงออกด้วย นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกการตรวจเพศในบางกรณีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของนักกีฬา