กลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตในวงการแบดมินตันเกาหลีใต้ หลังทาง อัน เซ-ยอง เจ้าเหรียญทองโอลิมปิก 2024 ประเภทหญิงเดี่ยว ได้ออกมาเปิดเผยความรู้สึกภายในใจที่มีต่อสมาคมแบดมินตัน พร้อมแฉถึงเรื่องราวในแคมป์ทีมชาติเกาหลีใต้ที่เธอต้องทนทุกข์มาตลอด 7 ปี ก่อนที่เธอจะประสบความสำเร็จ

อัน เซ-ยอง คือใคร?

อัน เซ-ยอง เป็นเด็กหญิงที่มีความฝันในการเป็นนักแบดมินตันตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มติดทีมชาติครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี ฉายแววความเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่ตอนนั้น คว้าแชมป์มากมายตั้งแต่รุ่นเยาวชนไปจนถึงระดับชุดใหญ่ 

เริ่มเล่นโอลิมปิกครั้งแรกในปี 2020 ที่โตเกียว โดยผ่านเข้ารอบไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ก่อนจะไปแพ้ เฉิน ยู่เฟย นักแบดฯ จากจีนไป หลังจากนั้นเธอก็ได้พัฒนาฝีมือมาเรื่อย ๆ จนในปี 2023 สามารถกลับมาเอาชนะเฉิน ยู่เฟย คว้าแชมป์แบดมินตันชิงแชมป์โลกได้สำเร็จ พร้อมก้าวขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก

ก่อนจะต่อยอดความสำเร็จ ในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส โดยสามารถคว้าเหรียญทองไปครองได้ในที่สุด พร้อมทำสถิติเป็นนักแบดมินตันคนแรกของเกาหลีใต้ในรอบ 16 ปี ที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ ด้วยวัยเพียง 22 ปี ซึ่งเส้นทางกว่าที่เธอนั้นจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องเผชิญเรื่องราวมากมายที่ทำให้เธอต้องทนทุกข์มาตลอด 7 ปี

สิ่งที่ทำให้เธอต้องทนทุกข์มาตลอด 7 ปี 

อัน เซ-ยอง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังจากที่เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ ซึ่งโดยปกติแล้วนักกีฬาส่วนใหญ่ก็มักจะใช้พื้นที่ตรงนี้ในการขอบคุณบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จ แต่เธอกลับใช้พื้นที่ตรงนี้ในการเปิดเผยความในใจถึงสิ่งอึดอัดมาตลอด

โดยเธอเริ่มเล่าว่า เธอนั้นไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ที่ดีพอจากทางสมาคม หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บเอ็นเข่าฉีกระหว่างการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2023 โดยเธอมองว่า สมาคมแบดมินตันเกาหลีใต้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเธอ แต่ให้ความสำคัญกับนักกีฬาประเภทคู่มากกว่า

พร้อมเปิดเผยถึงเรื่องราวที่เธอต้องเผชิญมาตลอด 7 ปี ตั้งแต่ติดทีมชาติในวัยเพียง 15 ปี โดยเธอเล่าว่า ในกิจวัตรประจำวัน ในแคมป์ทีมชาตินอกจากที่เธอต้องฝึกซ้อมแบดมินตันเป็นประจำแล้ว เธอยังต้องรับหน้าที่เป็นคนรับใช้ ที่ต้องคอยรับใช้รุ่นพี่ทุกคน เนื่องจากเธอเป็นรุ่นน้องที่อายุน้อยสุด

โดยต้องคอยรับใช้ทุกอย่างไล่ตั้งแต่เวลาฝึกซ้อมถ้าเส้นเอ็นไม้แบดฯ ของรุ่นพี่ขาด เธอต้องเป็นคนขึ้นเอ็นใหม่ให้ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังต้องทำความสะอาดห้องนอน ล้างห้องน้ำ ซักผ้า รีดผ้า หรือเรียกว่าแทบทุกอย่าง จนทำให้เธอเหนื่อยล้าและไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ

จนเธอได้ไปบอกโค้ช แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ โค้ชทีมชาติกลับสนับสนุนระบบโซตัสนี้ โดยบอกว่านี่เป็นธรรมเนียมที่ถูกปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย

นอกจากปัญหานี้ อีกหนึ่งปัญหาหลักคือเรื่องรายได้ โดยกฎของทางสมาคมระบุว่า นักกีฬาห้ามรับสปอนเซอร์ส่วนตัว โดยเฉพาะถ้าเป็นคู่แข่งกับสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับสมาคม รวมถึงบังคับให้นักกีฬาต้องใช้ชุดและอุปกรณ์ที่สมาคมกำหนดให้เวลาลงฝึกซ้อมและแข่งขัน

ซึ่งส่งผลกับรายได้ของนักกีฬาโดยตรง โดยปัจจุบันทาง อัน เซ-ยอง มีสัญญาอยู่กับ Nike แต่กลับต้องสวมชุดแข่งขันของ Yonex เวลาเล่นให้ทีมชาติ เนื่องจากเป็นสปอนเซอร์หลักของสมาคม ครั้งหนึ่งทาง อัน เซ-ยอง เคยขอแยกตัวออกมาเป็นอิสระ เพื่อที่จะเปิดเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากสมาคมมองว่าจะไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬาคนอื่น ๆ

สมาคมออกมาชี้แจงว่าอย่างไร?

แน่นอนว่าสมาคมแบดมินตันเกาหลีใต้ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาสอบสวนปัญหาต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน หลังจากโดนกดดันอย่างหนักจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

ซึ่งสมาคมได้ออกมาชี้แจงว่า ทางสมาคมได้ให้การดูแลรักษากับ อัน เซ-ยอง อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะการจัดหาแพทย์ส่วนตัว รวมถึงการดูแลรักษาตามสิ่งที่เธอควรได้รับ ส่วนเรื่องที่เธอมีความต้องการที่จะออกจากสมาคม ในเรื่องนี้ทางสมาคมไม่สามารถอนุมัติได้ ต้องเป็นไปตามกฎที่ตั้งไว้

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ในตอนนี้ทางสมาคมกำลังจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อหาทางออกร่วมกับอัน เซ-ยอง ซึ่งทางสมาคมมีความต้องการที่จะเคลียร์ใจกับอัน เซ-ยอง ให้ได้ โดยมองว่าเธอนั้นจะเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติไปอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดก็ต้องรอดูว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปอย่างไร ปัญหาที่อัน เซ-ยองต้องเผชิญมาตลอด 7 ปีจะถูกจัดการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ พร้อมทั้งอนาคตของเธอกับทีมชาติจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอติดตามชม