กลายเป็นเรื่องราวดราม่าในวงการกีฬาประเทศไทยที่กำลังถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ช่วงนี้ สำหรับการแข่งขัน เอเชียนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 6 ที่เดิมทีจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายนนี้ แต่ล่าสุดวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ได้ประกาศถอนสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ด้วยปัญหาความไม่ชัดเจน และความล่าช้าในเรื่องงบประมาณ บวกกับ เวลาที่เหลือเพียง 3 เดือน ซึ่งกระชั้นชิดเกินไป ทำให้ OCA ตัดสินใจยุติการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงยกเลิก และผลกระทบที่จะตามมาคืออะไร เราจะพาไปไล่เลียงกัน

เอเชียนอินดอร์เกมส์ คืออะไร

เอเชียนอินดอร์เกมส์ หรือชื่อเต็มคือ เอเชียนอินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ เป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่อยู่ในการดูแลของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ถูกแบ่งแยกย่อยออกมา จากรายการหลักอย่าง ‘เอเชียนเกมส์’  

ซึ่งจะถูกจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ก่อนที่เอเชียนเกมส์จะเริ่มขึ้น 1 ปี จุดประสงค์ของการแข่งขันนี้ เพื่อให้นักกีฬาได้มีเวทีแสดงความสามารถอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะถึงการแข่งขันใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์ 

โดยกีฬาที่อยู่ในเอเชียนอินดอร์เกมส์ ส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาที่ไม่ได้รับพิจารณาให้จัดการแข่งขันในกีฬาสากลอย่างโอลิมปิกเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ เช่น โบว์ลิง, มวยไทย, หมากล้อม, หมากรุก และสนุกเกอร์ เป็นต้น

สาเหตุที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ

การแข่งขันเอเชียนอินดอร์เกมส์ แม้จะเป็นการแข่งขันระดับเอเชีย แต่รายการนี้กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ประเทศที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพขาดทุนเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีประเทศไหนกล้ายื่นประมูล หรือเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพในปี 2021 เลย  

ด้วยเหตุนี้ ด้าน ชีค อาหมัด อัล ฟาฮัด ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ไม่นิ่งนอนใจ จึงได้เดินทางมาเจรจากับรัฐบาลประเทศไทย ที่ในตอนนั้นมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้

หลังการเจรจา ประเทศไทยก็ได้ตอบตกลงเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดยหลายคนมองว่าเป็นการจัดที่ขาดทุนเห็น ๆ ควรเอาเงินไปพัฒนาส่วนอื่นดีกว่าไหม แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้เพราะได้ตอบตกลงไปแล้ว 

ซึ่งก็เป็นอย่างที่หลายคนรู้กันว่าการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ หลายสิ่งหลายอย่างเต็มไปด้วยปัญหา ทำให้จำเป็นต้องเลื่อนจัดการแข่งขันถึง 4 ครั้ง จนนำไปสู่การถูกยกเลิกในท้ายที่สุด 

สาเหตุที่ต้องเลื่อนและยกเลิก

สาเหตุที่ต้องเลื่อนจนนำไปสู่การถูกยกเลิก ปัญหาหลักเกิดจากการทำงานและการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยสาเหตุต้องเลื่อนแตกต่างกันตามแต่ละครั้งไป

  • ครั้งที่ 1 : พฤษภาคม 2021 ต้องเลื่อน เพราะสถานการณ์โควิด
  • ครั้งที่ 2 : มีนาคม 2022 ต้องเลื่อน เพราะก่อสร้างสนามยังไม่เสร็จ บวกกับสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น
  • ครั้งที่ 3 : พฤศจิกายน 2023 ต้องเลื่อน เพราะเรื่องงบประมาณในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 
  • ครั้งที่ 4 : กุมภาพันธ์ 2024 ต้องเลื่อน เพราะใกล้ช่วงโอลิมปิกเกินไป ซึ่งทาง OCA เป็นคนขอเลื่อนเอง โดยมองว่าเป็นช่วงที่นักกีฬากำลังเตรียมตัวสำหรับแข่งโอลิมปิก

หลังจากการเลื่อนครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทาง OCA จึงได้กำหนดช่วงเวลาจัดการแข่งขันใหม่ขึ้นมาเป็นพฤศจิกายน 2024 อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่พร้อมของไทย และเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ บวกกับระยะเวลาที่เหลือเพียง 3 เดือนก่อนที่การแข่งขันจะเริ่ม ทำให้ล่าสุดในวันที่ 19 สิงหาคม 2024 ทาง OCA จึงตัดสินใจประกาศถอนสิทธิการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในที่สุด

ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กกท.) ออกมาชี้แจงสาเหตุที่ยังไม่สามารถอนุมัติเรื่องงบประมาณได้ โดยชี้สาเหตุสำคัญคือเรื่องความคุ้มค่าในการจัดการแข่งขัน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยในตอนแรกได้ประเมินจำนวนนักกีฬาที่จะเข้าร่วมไว้ที่ประมาณ 14,000 คน จาก 38 ชนิดกีฬา

แต่จากหนังสือล่าสุดของ OCA ทำให้ต้องปรับลดชนิดกีฬาเหลือเพียง 24 ชนิด บวกกับข้อมูลการลงทะเบียนนักกีฬาล่าสุดที่มีเพียง 1,938 คนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้ทาง กกท. จึงเกิดความกังวลที่จะจัดการแข่งขันขึ้นส่งผลให้เกิดความล่าช้า

ผลกระทบที่จะตามมา

แน่นอนว่าทุกสิ่งมีราคาที่ต้องจ่าย การถูกสั่งยกเลิกเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในครั้งนี้สร้างผลกระทบมากมายหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศ, งบประมาณที่เบิกใช้ไปแล้วกว่า 980 ล้านบาท รวมถึงค่าชดเชยในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬา, ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ทาง OCA ได้ขายไปแล้ว, ค่าวางระบบไอที และค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับนักกีฬาบางประเทศที่มีการสำรองตั๋วไปแล้ว

โดยในส่วนที่กล่าวมาประเทศไทยต้องรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งถ้าหากไทยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ก็มีโอกาสที่ OCA จะพิจารณาตัดสิทธิ์ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเอเชียนเกมส์ ในนามประเทศไทยที่นาโกย่า สำหรับเอเชียนเกมส์ 2026 ซึ่งจะส่งได้ในนามนักกีฬาภายใต้ธง OCA 

ส่วนกรณีการโดนแบนในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และเอเชียนเกมส์นั้น ด้าน กกท. ชี้แจงว่า ยังไม่มีความน่ากังวล เนื่องจากในอดีตประเทศที่เคยยกเลิกการเป็นเจ้าภาพอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม และจีนนั้น ไม่ได้ถูกแบนจากการแข่งขันแต่อย่างใด และ และที่สำคัญคือเงื่อนไขการโดนแบนด้วยสาเหตุการเปลี่ยนเจ้าภาพในการแข่งขันนั้น ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญา