เรียกว่าเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ช่วงที่ผ่านมา สำหรับแนวทางการสร้างทีมของเชลซี ที่เน้นซื้อนักเตะดาวรุ่งเข้ามามากมายจนเกือบล้นทีม โดยในตลาดซัมเมอร์รอบนี้เชลซีซื้อนักเตะมาแล้วกว่า 10 คน โดยถ้านับรวมทั้งหมดจากที่มีอยู่ และซื้อมาใหม่ เชลซีจะมีนักเตะมากกว่า 40 คน ซึ่งยังรวมกับนักเตะเซ็นไว้ล่วงหน้าอีก
แม้ด้าน เอ็นโซ่ มาาเรสก้า กุนซือเชลซี จะออกมาปฏิเสธถึงข่าวดังกล่าวว่าเขาไม่ทำงานกับนักเตะ 40 คนตามที่สื่อรายงาน แต่การมีขุมกำลังที่มากขนาดนี้ ก็ถือว่าเกินความจำเป็นอยู่มากพอสมควร
ซึ่งเชลซีทำไปทำไมกับการซื้อนักเตะที่มากมายขนาดนี้ แล้วจะจัดการอย่างไรกับนักเตะทั้งหมดที่มีอยู่ เราจะพาไปหาคำตอบกัน
แนวทางการสร้างทีม
หลังการเปลี่ยนผ่านยุคจากเจ้าเก่าเชลซีอย่าง โรมัน อบราโมวิช หรือ เสี่ยหมี ที่เรารู้จักกัน เปลี่ยนมาเป็น กลุ่มทุนอเมริกา (BlueCo) ที่นำทีมโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ การเข้ามาของกลุ่ม BlueCo สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเชลซีมากมายในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหาร นโยบายสโมสร แนวทางการสร้างทีม รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบุคลากร ทั้งผู้บริหาร, สตาฟโค้ช, ผู้จัดการทีม และนักเตะ
กลุ่ม BlueCo เข้ามาพร้อมกับแนวทางการสร้างทีมที่ไม่เหมือนใคร โดยได้นำแนวทาง มันนี่บอล จากอเมริกันเกมส์ ที่พวกเขาเคยใช้แล้วประสบความสำเร็จจากการทำทีมเบสบอลอย่าง ดอดเจอรส์ มาปรับใช้กับเชลซี โดยเรื่องสำคัญคือการเน้นสร้างทีมเพื่ออนาคตแบบยั่งยืน
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนจากยุคก่อนคือ การเลือกซื้อนักเตะ จะสังเกตเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงทีมในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเลือกเซ็นกับนักเตะดาวรุ่งอายุน้อยที่มีแววพัฒนาได้ โดยกำหนดอายุเอาไว้ไม่ให้เกิน 25 ปี และต้องมีค่าเหนื่อยที่สมเหตุสมผล ซึ่งเชลซีพร้อมให้สัญญาระยะยาว ด้วยจำนวน 7-8 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับโลกฟุตบอลเป็นอย่างมาก
สาเหตุที่ซื้อนักเตะดาวรุ่งเข้ามาจำนวนมาก
- เรื่องธุรกิจ
การที่เชลซีซื้อนักเตะดาวรุ่งเข้ามาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องของธุรกิจ เชลซีมองว่านักเตะเป็นเหมือนทรัพย์สิน การซื้อเข้ามาส่วนหนึ่งก็เพื่อหวังทำกำไรในอนาคต ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้เป็นวิธีที่เพิ่งทำ การซื้อนักเตะดาวรุ่งเข้ามาทำกำไรเป็นมาตั้งแต่ยุคของเสี่ยหมี ทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเชลซีทำกำไรจากการขายนักเตะในอะคาเดมีไปได้เกือบ 500 ล้านปอนด์ จากการรายงานของ Transfermarkt เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือในตลาดการซื้อขายนักเตะโลก
- เรื่องค่าเหนื่อย
ในปัจจุบันเชลซีมีความพยายามที่จะปรับเพดานค่าเหนื่อยนักเตะลง ด้วยการพยายามโละนักเตะซีเนียร์ที่มีค่าเหนื่อยแพง ๆ ออก เพื่อทำให้ทีมมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยที่จะซื้อนักเตะดาวรุ่งที่ค่าเหนื่อยไม่แพงเข้าแทน โดยเชลซีจะไม่ให้ค่าเหนื่อยแพง ๆ กับนักเตะดาวรุ่งตั้งแต่สัญญาฉบับแรก ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองให้กับนักเตะดาวรุ่ง ซึ่งถ้าสามารถทำผลงานได้ดีก็จะได้รับค่าเหนื่อยเพิ่มและโบนัสเพิ่ม แต่ในทางกลับกันถ้าฟอร์มไม่ดีก็จะได้รับแค่เงินพื้นฐานแค่นั้น
- ซื้อมาเป็นกำลังหลักระยะยาว
เชลซีมีความพยายามที่จะโละนักเตะที่อายุเยอะออก แล้วซื้อนักเตะดาวรุ่งอายุน้อยเข้ามาแทนเพื่อเป็นกองกำลังหลักให้กับทีมในระยะยาว ด้วยการให้สัญญานักเตะ 7-8 ปี สาเหตุที่ต้องให้สัญญาด้วยจำนวนปีที่มากขนาดนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงิน แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อให้นักเตะมีเวลาในการพิสูจน์และพัฒนาตัวเองมากขึ้น
ซึ่งถึงแม้การให้สัญญาระยะยาว จะเป็นภาระที่จะติดตัวเชลซีไปในอนาคตแต่เชลซีไม่ได้มองอย่างนั้น โดยพวกเขามองว่านักเตะเหล่านี้เป็นทรัพย์สิน ในกรณีที่เล่นดีพวกเขาก็สามารถเก็บนักเตะไว้เป็นตัวหลักของทีมได้ ส่วนถ้าเล่นไม่ดี อย่างน้อยก็ยังสามารถหาทีมที่จะรับไปดูแลต่อได้ไม่ยาก เนื่องจากค่าเหนื่อยไม่แพง ซึ่งต่างกับนักเตะอายุเยอะที่ค่าเหนื่อยแพง
จะจัดการทีมอย่างไร
เชลซีในตลาดรอบนี้มีการซื้อนักเตะเข้ามาใหม่ถึง 10 คน ทำให้เชลซีมีขุมกำลังในทีมกว่า 40 คน ซึ่งถือว่ามากกว่าทีมอื่นเป็นเท่าตัว แต่ล่าสุด ด้าน เอ็นโซ มาเรสก้า กุนซือเชลซี ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตอนนี้ผมได้ 11 ตัวจริงที่ต้องการแล้ว ผมไม่ทำงานกับนักเตะ 42 คนตามที่สื่อภายนอกกำลังพูดถึง ผมซ้อมกับนักเตะ 21 คน ส่วนที่เหลือ 15-20 คน พวกเขาแยกฝึกซ้อมกันไป และมันก็ไม่ได้วุ่นวายเหมือนที่คนภายนอกกำลังมอง”
อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดนักเตะจบลง เชลซีจะไม่มีขุมกำลังถึง 40 กว่าคนอย่างแน่นอน โดยเชลซีวางทีมชุดใหญ่จริง ๆ ไว้ประมาณไม่เกิน 28 คน ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 20 คน เชลซีมีความตั้งใจที่จะขายและปล่อยยืมก่อนที่ตลาดซื้อขายจะปิดลง
สรุปรายชื่อนักเตะทั้งหมด
นักเตะชุดใหญ่ (24 คน)
ผู้รักษาประตู : โรเบิร์ต ซานเชซ, ฟิลิป ยอร์เกนเซน, มาร์คัส เบ็ตติเนลลี
กองหลัง : มาร์ค คูคูเรญา, เรนาโต้ เวก้า, ลีวาย โควิลล์, เบอนัวต์ บาเดียชิล, เวสลีย์ โฟฟานา, อักเซล ดิซาซี, โตซิน อดาราบิโอโย, รีซ เจมส์, มาโล กุสโต้
กองกลาง : มอยเซส ไคเซโด้, โรเมโอ ลาเวีย, เอ็นโซ เฟร์นานเดซ, เคียร์แนน ดิวส์เบอรี-ฮอลล์
กองหน้า : คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู, เปรโด เนโต้, มิไคโล มูดริค, โคล พาลเมอร์,โนนี มาดูเอเก้, นิโคลัส แจ็คสัน, มาร์ค กิว, ชูเอา เฟลิกซ์
นักเตะที่ขายไปแล้ว (9 คน)
- คอเนอร์ กาลาเกอร์ (แอตเลติโก มาดริด)
- โรเมลู ลูกากู (นาโปลี)
- เอียน แมตเซน (แอสตัน วิลล่า)
- ฮาคิม ซีเย็ค (กาลาตาซาลาย)
- โอมารี ฮัทชิน (อิปสวิช ทาวน์)
- ลูอิส ฮอลล์ (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)
- เมสัน เบอร์สโตว์ (ฮัลล์ ซิตี้)
- ดีเอโก้ โมเรร่า (สตราส์บูร์ก)
- บาเชียร์ ฮัมฟรี่ย์ (เบิร์นลี่ย์)
นักเตะที่ปล่อยยืมแล้ว (8 คน)
- ยอร์เย เปโตรวิช (สตารส์บูร์ก)
- เลสลี่ย์ อูโกชุควู (เซาธ์แฮมป์ตัน)
- คาเล็บ ไวลี่ย์ (สตราส์บูร์ก)
- เอ็ดดี้ บีช (ครอว์ลี่ ทาวน์)
- อัลฟี่ กิลคริสต์ (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด)
- อันเดรย์ ซานโต๊ส (สตราส์บูร์ก)
- กาเบรียล สโลนิน่า (บาร์นลี่ เอฟซี)
- เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า (บอร์นมัธ)
นักเตะที่อยู่ในลิสต์ขายและปล่อยยืม (15 คน)
- ราฮีม สเตอร์ลิง
- เทรโวห์ ชาโลบาห์
- อาร์มันโด โบรยา
- อันเจโล กาเบรียล
- เบน ชิลเวลล์
- เดวิด วอชิงตัน
- ดาวิด ดาโทร โฟฟานา
- ลูคัส เบิร์กสตรอม
- ติโน อันโจริน
- อเล็กซ์ มาโตส
- ฮาร์วีย์ เวล
- คาร์นีย์ ชุควูเมก้า
- เซซาเร คาซาเด
- โอมาริ เคลลีแมน
- จอร์จ อาชิมปง
สุดท้ายแล้ว ทุกแนวทางการสร้างทีมนั้น ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทุกทีมมีแนวทางและวิธีการที่เป็นของตัวเอง ส่วนแนวทางที่เชลซีกำลังทำอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ แต่ก็ถือว่าเสี่ยงอยู่พอสมควร ส่วนคำถามว่าแนวทางนี้จะเวิร์กจริงไหม เวลาเท่านั้นจะเป็นตัวให้คำตอบกับเรา