เรื่องราวรอยร้าวภายในเชลซี กลายเป็นเรื่องใหญ่สุดในวงการฟุตบอลในรอบสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่เชลซี 2 คน ระหว่าง เบห์ดัด เอ็กบาลี กับ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ที่มีปัญหาภายในกันหลาย ๆ เรื่อง เกิดการทะเลาะหนักถึงขั้นมีข่าวว่าต่างฝ่ายอยากซื้อหุ้นของอีกฝ่ายมาเป็นของตัวเอง เพื่อทำให้อีกฝ่ายออกไปจากสโมสร

อะไรที่ทำให้ความสัมพันธ์ของ เบห์ดัด เอ็กบาลี กับ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ มาถึงจุดนี้ เราจะพาไปหาคำตอบกัน  

ใครเป็นเจ้าของเชลซีกันแน่

สำหรับแฟนบอลทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามเชลซีแบบจริง ๆ อาจเข้าใจผิดว่า ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เป็นเจ้าของเชลซีและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด เพราะด้วยความที่เห็นหน้าตามสื่อบ่อยที่สุด แต่ความจริงแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือกลุ่มทุนของ เบห์ดัด เอ็กบาลี ต่างหาก

เชลซีมีเจ้าของจริง ๆ 5 คน ซึ่งคนที่ถือหุ้นใหญ่สุดคือ เบห์ดัด เอ็กบาลี และ โจเซ่ อี. เฟลิเซียโน่ ที่มาในนามกลุ่มทุน Clearlake Capital ซึ่งถือหุ้นมากถึง 61.5% ส่วนอีก 38.5% ที่เหลือแบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ถือหุ้นประมาณ 13%, มาร์ค วอลเตอร์ ถือหุ้นประมาณ 13% และฮันส์ยอร์ก วิสส์ ถือหุ้นประมาณ 13%  

ทะเลาะอะไรกัน

ประเด็นการทะเลาะกัน เรื่องหลักก็คือ ความเห็นไม่ตรงกัน ด้วยความที่ผู้ถือหุ้นมีจำนวนมาก ทำให้มีแนวทางและความคิดหลาย ๆ อย่างที่ไม่ตรงกัน โดยแบ่งย่อยเป็น 3 ประเด็นดังนี้

แนวทางการทำทีม

  • ด้าน โบห์ลี่ย์ มีแนวทางการทำทีมที่เน้นซูเปอร์สตาร์ พร้อมใช้งาน ค่าเหนื่อยสูง ดูได้จากตลาดรอบแรกที่ในตอนนั้น โบห์ลี่ย์ ยังผู้อำนวยการกีฬาชั่วคราวอยู่ ที่มีการเซ็นทั้ง ราฮีม สเตอริ่ง, คูลิบาลี่, ปิแอร์ โอบาเมยอง, มาร์ค คูคูเรย่า และเวสลี่ย์ โฟฟาน่า อีกทั้งยังเคยมีข่าวอยากได้ คริสเตียโน โรนัลโด และเนย์มาร์ อีก
  • ด้าน เอ็กบาลี่ รู้สึกไม่พอใจกับแนวทางการทำทีมของ โบห์ลี่ย์ ในฤดูกาลแรก เนื่องจากนักเตะที่ซื้อมาทำผลงานได้ไม่ค่อยดี จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดซื้อขายรอบหลังจากนั้น โดยได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการกีฬาทั้ง พอล วินสแตนลี่ย์ และลอเรนซ์ สจ๊วต เข้ามาวางแนวทางการทำทีมใหม่ โดยมีแนวทางเป็นแผนระยะยาว เน้นซื้อดาวรุ่งมีแวว ค่าเหนื่อยไม่แพง ตัวอย่างเช่น นิโคลัส แจ็คสัน, โคล พาลเมอร์, มอยเซส ไคเซโด้ และโรเมโอ ลาเวีย เป็นต้น

การสร้างสนามใหม่เชลซี

  • ด้าน โบห์ลี่ย์ ประกาศจุดยืน ว่าจะทำให้สนามใหม่ของเชลซีทันสมัยที่สุดในอังกฤษ ซึ่งมีความต้องการ เจเน็ต มารี สมิธ สถาปนิกชื่อดังที่เคยมีประสบการณ์ในการทำสนามเบสบอลที่เมเจอร์ อเมริกามาก่อน เข้ามาทำสนามใหม่เชลซี   
  • ด้าน เอ็กบาลี่ ไม่เห็นด้วยกับ โบห์ลี่ย์ เพราะมีคนของตัวเองอยู่แล้ว คือบริษัท Populous ที่มีประสบการณ์ในการสร้างสนามสเปอร์สมาก่อน

การแยกทางกับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่

  • ด้าน โบห์ลี่ย์ สนับสนุนให้ โปเช็ตติโน่ ทำทีมต่อหลังสามารถพาทีมไปฟุตบอลยุโรปได้ในฤดูกาลที่แล้ว เพราะรู้สึกพอใจกับทิศทางการคุมทีมที่มองว่ากำลังไปได้ดี
  • ด้าน เอ็กบาลี่ ไม่สนับสนุน โปเช็ตติโน่ ให้คุมทีมต่อ โดยมองว่าไม่สามารถทำผลงานได้ตามที่คาดไว้ หากเทียบกับการลงทุนที่ซื้อนักเตะไป จึงต้องการการเปลี่ยนแปลง และได้เอา เอ็นโซ มาเรสก้า อดีตกุนซือเลสเตอร์ ซิตี้ เข้ามาคุมทีมแทน

จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกิดรอยร้าวมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นแตกหักในที่สุด

สุดท้ายจะจบอย่างไร

ตามรายงานของ Matt law สายข่าวเชลซีชื่อดัง รายงานว่าในตอนนี้ทั้งสองฝ่ายมีความต้องการซื้อหุ้นของอีกฝ่ายหนึ่ง 

  • ด้าน โบห์ลี่ย์ แม้ถือหุ้นเพียง 13% แต่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถระดมทุน 2,500 ล้านปอนด์มาได้ เพื่อซื้อหุ้น 61.5% จากเอ็กบาลี 
  • ด้าน เอ็กบาลี ก็เชื่อว่าตัวเองสามารถซื้อหุ้นจาก โบห์ลี่ย์ รวมไปถึงหุ้นของ มาร์ค วอลเตอร์ และฮันส์ยอร์ก วิสส์ ได้เช่นกัน โดยที่ไม่ต้องระดมทุนจากกลุ่มทุนอื่น

จากความสัมพันธ์ที่เข้าข่ายแตกหักตามรายงาน จุดจบสุดท้ายในสถานการณ์นี้มีอยู่ 2 ทาง 

  • ปรับความเข้าใจ ดำเนินแบบนี้ต่อไป ด้วยความเป็นมืออาชีพด้วยกันทั้งสองฝ่าย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องซื้อหุ้นของอีกฝ่าย แต่สิ่งที่ยากคือทั้งสองฝ่ายไม่มีความต้องการอยากขายหุ้นของตัวเองเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วเรื่องราวนี้จะจบลงอย่างไรก็ต้องติดตาม ฝ่ายที่ได้เปรียบในสถานการณ์นี้แน่นอนว่าต้องเป็นฝ่ายเอ็กบาลี่ ด้วยความที่มีหุ้นในมือมากกว่า ย่อมมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าเป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือต้องพยายามให้เรื่องนี้จบลงเร็วที่สุด เพราะหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างงี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสมาธิของทีมงานและนักเตะอย่างแน่นอน ซึ่งอาจทำให้ผลงานในสนามแย่ได้เลย