หลังจากประเทศอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทั้ง 4 ประเทศใหญ่ออกมาประกาศว่าจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมและไม่เห็นด้วยที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่าง 24 กรกฎาคมถึง 9 สิงหาคมนี้ หากญี่ปุ่นยังยืนกรานจะไม่เลื่อนการจัดการแข่งขันออกไป รายงานล่าสุดนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ของญี่ปุ่น ได้เสนอแผนเลื่อนการจัดงานโอลิมปิกออกไป 1 ปี หลังจากหลายประเทศมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนที่จะยังคงจัดงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อ Covid-19
ส่วนนาย Thomas Bach ประธานคณะกรรมการจัดงานอย่าง IOC ก็ดูจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ในที่สุด จากตอนแรกที่มีหลากหลายแนวทางออกมาจาก IOC ที่ยืนกรานว่าจะไม่เลื่อนการจัดงานอย่างแน่นอนในทีแรก และในรายงานล่าสุดจากหน้าเว็บไซต์ทางการก็ได้ประกาศเลื่อนจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการแล้วด้วย แต่คบเพลิงของการแข่งขันจะยังคงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และการแข่งขันจะยังคงใช้ชื่อว่าโอลิมปิก 2020 แม้จะจัดจริงในปี 2021 ก็ตาม
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการอาวุโสของ IOC ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับทางการของญี่ปุ่นเพื่อจะไม่ให้มีการเลื่อนการจัดงานออกไป ถ้ายังไม่ได้รับการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการทั้งหมด แต่ต่อมาก็มีรายงานว่า นั่นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของคณะกรรมการบางคน ไม่ใช่การแสดงความเห็นของคณะกรรมการของ IOC ที่เป็นทางการ จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ก็เริ่มมีท่าทีจาก IOC ออกมากชัดเจนมากขึ้นว่าการจัดงานจะ “เลื่อนแน่” เพียงแต่รอยืนยันกับทางการญี่ปุ่นเท่านั้น
ค่าเสียหายที่หากประเมินเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ถ้าหากมีการเลื่อนการจัดงานแข่งขัน นอกจากนั้นยังกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่วางแผนการเดินทางไว้หมดแล้ว (แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวก็น่าจะยกเลิกไปเยอะมากแล้ว) รวมถึงนักกีฬาที่ต้องวางแผนการซ้อมใหม่ทั้งหมด แต่ก็นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นมาก หากให้นักกีฬาและนักท่องเที่ยวมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
ทางด้านความเสียหายที่เกิดกับวงการโทรทัศน์ในสหรัฐฯ อย่างบริษัท Comcast ที่ได้สิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาทุกประเภทมาตลอดตั้งแต่ปี 2014 และจะได้สิทธิไปจนถึงปี 2032 ผ่านช่อง NBCUniversal ได้ขายสปอนเซอร์กับแบรนด์ซื้อสินค้าไปแล้วกว่า 90% มูลค่ากว่า 1,250 ล้านเหรียญฯ
งบประมาณในการจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 32 ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้มีมูลค่า 12,600 ล้านเหรียญฯ โดยผู้ร่วมลงทุนสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ได้แก่ เมืองโตเกียวจำนวน 5,609 ล้านเหรียญฯ คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่น 5,704 ล้านเหรียญฯ และรัฐบาลญี่ปุ่น 1,402 ล้านเหรียญฯ โดยญี่ปุ่นนั้นเคยคว้าโอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 ครั้งคือปี 1940, 1964 และครั้งนี้ ซึ่งเมื่อครั้งปี 1940 นั้นญี่ปุ่นขอถอนตัวการเป็นเจ้าภาพเพื่อไปเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งท้ายที่สุด ในปี 1940 นั้นก็เป็นอีก 1 ในจำนวน 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ที่มีการเลื่อนจัดการแข่งขัน ครั้งแรกคือเมื่อปี 1914 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงปี 1940 และปี 1944 ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุ่นตั้งใจว่าจะใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 เป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในแง่การท่องเที่ยวหลังจากซบเซามานาน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเปิดเผยเองว่า เม็ดเงินที่จะได้จากโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของชาติอยู่ที่ 3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินอนาคตหากจัดงานนี้ประสบความสำเร็จ ได้ชื่อเสียงและได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อยอดกันไปได้อีกหลายปี จากสนามกีฬาและการปรับปรุงสาธารณูปโภคที่ได้ลงทุนไปแล้ว
ย้อนไปเมื่อโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรก รัฐบาลลงทุนไปกว่า 212,000 ล้านเยน (ประมาณ 59,680 ล้านบาท) ปรับเปลี่ยนเมืองหลวงกรุงโตเกียวให้กลายเป็นเมืองทันสมัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เคยย่ำแย่ รวมถึงจัดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้พวกเขาได้รับคำชมจากชาวต่างชาติมากมาย พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศกลับมารุ่งเรือง หลังจากดำดิ่งมาหลายปีจากเหตุแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ในครั้งนี้ญี่ปึ่นก็คาดหวังว่าจะทำได้เหมือนครั้งนั้น
หากพลิกดูตามหน้าประวัติศาสตร์การจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก ก่อนหน้านี้ไม่นานเมื่อปี 2016 ประเทศบราซิลก็เคยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัส “ซิกา” ก่อนหน้าจะต้องจัดงานโอลิมปิกครั้งที่ 31 แต่ก็เอาตัวรอดจัดงานผ่านมาได้ ส่วนงานโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ที่จัดขึ้นที่เมืองเปียงชาง ประเทศเกาหลีใต้ ก็ต้องเผชิญหน้ากับความหวาดระแวงจากข่าวลือว่า กองทัพของประเทศเกาหลีเหนืออาจแทรกซึมเข้ามาก่อเหตุไม่คาดฝัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส