จากกระแสข่าวที่นักร้องชืี่อดัง ‘ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช’ ได้ออกมาเปิดเผยผ่านคลิป ไอซ์ ป่วยเป็น “โรคกินไม่หยุด” โรคจริงๆ ไม่ใช่ความตะกละเด้อ! ทางช่องยูทูบ ICE SARUNYU OFFICIAL โดยตนได้เล่าแบบเปิดเผยว่า ตนมีภาวะป่วยเป็น ‘โรคกินไม่หยุด’ หรือ ‘Binge Eating Disorder’ ที่ทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารปริมาณมากผิดปกติแบบซ้ำ ๆ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อหลังรับประทานไปแล้วจะมีความรู้สึกผิด จิตตก กังวล รู้สึกโทษตัวเองที่กินเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถหักห้ามใจให้หยิบอาหารเข้าไป
ซึ่งไอซ์ยังได้เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่ตนเป็นว่า แม้จะเป็นโรคที่ฟังดูตลก แต่จริง ๆ แล้วไม่ตลกเลย เพราะคนที่เผชิญภาวะนี้ จะไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ กินแม้กระทั่งตอนที่ยังไม่รู้สึกหิว ต่อให้เป็นอาหารที่ไม่ได้มีความอยากกิน แต่ก็พร้อมจะหยิบเข้าปากถ้าอยู่ใกล้ และต่อให้มีอาหารเยอะแค่ไหนก็กินจนหมดได้
ซึ่งผลกระทบที่ตามมา ไม่ใช่เพียงแค่น้ำหนักตัวที่เพิ่มเท่านั้น เพราะไอซ์ยังเล่าเพิ่มเติมว่า ยังมีผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย จากการที่โดนทักว่าน้ำหนักขึ้นหรือเปล่า จนนำไปสู่ความรู้สึกผิดในการกิน และนำไปสู่การหลอกตัวเองและหลอกคนรอบข้างว่ากำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ จนลุกลามกลายเป็นภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกผิดที่หยุดกินไม่ได้ และเริ่มจะมีภาวะการแอบซ่อนอาหาร แอบแยกตัวไปกินอาหารโดยไม่ให้ใครเห็น และในที่สุดก็กลายเป็นการปฏิเสธการกินอาหารกับคนอื่น ๆ เพราะกลัวการถูกสั่งให้หยุดกิน ซึ่งเมื่อตรวจสุขภาพแล้ว ตนพบว่ามีไขมัน LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) สูงมาก และมีภาวะไขมันพอกตับ
‘โรคกินไม่หยุด’ หรือ ‘Binge Eating Disorder’ เป็นโรคที่มีอาการรับประทานอาหารเป็นปริมาณมาก ๆ และ ซ้ำ ๆ ผิดปกติ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในโลกนี้มีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 1-3 เปอร์เซนต์ของประชากร และมักพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 1.5-6 เท่า พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 12-25 ปี
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรมการกินอาหารปริมาณมากแม้ว่าจะไม่ได้หิว และมีความยากลำบากในการสัมผัสว่าหิวหรืออิ่มแล้ว เป็นผลทำให้น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีภาวะอ้วน (Obesity) เร็วกว่าปกติ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้มักรับประทานอาหารที่ให้พลังงานรวมทั้งวันมากกว่าคนอ้วนปกติ โดยผู้ที่ป่วยจะต้องมีข้อบ่งชี้เหล่านี้ 3 ข้อขึ้นไป ได้แก่
- กินเร็ว กินเยอะ กินถี่ กินได้เรื่อย ๆ แม้ไม่รู้สึกหิว หรือไม่ได้รู้สึกอยากกินอะไรเป็นพิเศษ
- กินจนเลยคำว่าอิ่มจนกลายเป็นรู้สึกแน่น จุก ไม่สบายตัว ทรมาน
- รู้สึกผิด ละอาย ซึมเศร้า วิตกกังวล รังเกียจตัวเองหลังจากที่กินอาหารปริมาณมาก ๆ เข้าไป
- แต่ก็ไม่สามารถควบคุมปริมาณอาการ หรือควบคุมการกินได้
- ซ่อนอาหารไว้เผื่อกินตลอดเวลา หรือกินอาหารในช่วงกลางดึก
- เริ่มมีความรู้สึกอยากกินอาหารคนเดียว หลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะรู้สึกอายที่กินเยอะ และกลัวการถูกจับผิด กลัวการทักถึงรูปร่างที่เปลีี่ยนไป
- มีความมั่นใจในตัวเองลดลง ในบางรายอาจถึงขั้นปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์
- พบอาการเหล่านี้อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป
ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจ พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มักไวต่อความรู้สึกด้านลบจากคนรอบข้างเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตน ผู้ป่วยมักมีความยากลำบากในการลดน้ำหนัก และมักไม่ได้ผลในการลดน้ำหนักด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นความปกติทางจิตเวช ที่มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับปัญหาสุขภาพจิต
และยังจัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคการกินผิดปกติ’ (Eating disorder) เช่นเดียวกับ ‘โรคอะนอเร็กเซีย’ (โรคคลั่งผอม) (Anorexia Nervosa) และ ‘โรคบูลิเมีย’ (กินอาหารแล้วล้วงคอ) (Bulimia Nervosa) แต่โรคกินไม่หยุดจะมีความต่างคือ จะไม่มีพฤติกรรมชดเชยหลังการกิน เช่น ออกกำลังกายหักโหม ล้วงคอให้อาเจียน หรือกินยาถ่าย
การรักษาโรคกินไม่หยุดนี้ หากมีความสงสัยว่าตนเองเริ่มมีอาการ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของโรค และวางเป่้าหมายการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนตามการวินิจฉัยของแพทย์ โดยแพทย์อาจเลือกที่จะรักษาปัญหาสุขภาพจิต เช่น การใช้ยา การทำจิตบำบัด การปรับพฤติกรรม หรือการลดน้ำหนัก และรูปร่าง หรือรักษาไปควบคู่กัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส