ทุกคนคงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอลยูโรระหว่าง ‘เดนมาร์ก’ กับ ‘ฟินแลนด์’ กันดีแล้ว เมื่อ ‘คริสเตียน อีริคเซน (Christian Eriksen)’ นักฟุตบอลจากทีมเดนมาร์กเกิดอาการภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ฟุบล้มกับพื้นสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ตามภาพที่เห็น ทั้งทีมแพทย์ นักกีฬา กรรมการ ยันแฟนบอลต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำให้เขารอดพันขีดอันตรายมาได้ทันท่วงที แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ย่อมผ่านการสูญเสียมาก่อน เราจะมาถอดบทเรียนภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาที่แข็งแรงแค่ไหนก็ตาม
ก่อนอื่นนั้นขอพาไปทำความรู้จักกับประเทศ ‘เดนมาร์ก’ หนึ่งในประเทศที่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำ CPR ดีที่สุดในโลก เริ่มตั้งแต่ปี 2005 รัฐบาลเดนมาร์กใส่หลักสูตรการทำ CPR ไว้ในวิชาเรียนระดับประถมศึกษา ขอย้ำนะครับชั้นประถมศึกษา! รวมถึงข้อบังคับเวลาสอบใบขับขี่ก็ต้องรู้วิธีการทำ CPR ด้วย ส่งผลให้สถิติการรอดชีวิตของคนหัวใจวายในเดนมาร์กสูงขึ้น 3 เท่าตัว นี่ขนาดคนธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงเจ้าที่หน้าสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีความรู้และทักษะที่ปฏิบัติงานได้จริงตลอดเวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘คริสเตียน อีริคเซน’ ทำให้เขารอดชีวิต
นับจากปี 2003 ทางฟีฟ่ามีนโยบายให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA)’ หากนักฟุตบอลคนไหนหรือใครก็ตามในสนามเกิดอาการนี้ทุกคนต้องรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร เช่นเดียวกับสิ่งที่แอนโธนี เทย์เลอร์ (Anthony Taylor) ผู้ตัดสินชาวอังกฤษเป่าหยุดเกมทันที หรือทีมแพทย์ที่ต้องวิ่งเข้ามาในสนามโดยเร็วที่สุด (ใช้เวลาเพียง 21 วินาที) ไปจนถึงนักกีฬาก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง เช่นเดียวกับที่ทีมเดนมาร์กต่างมายืนล้อมปิดกั้นสื่อบันทึกภาพนั่นเอง
ในทางการแพทย์มองเห็นความสำคัญของภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เช่นกัน ขออนุญาตยกบทความของนพ. นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและ Sports Cardiologist มาสรุปให้ฟังว่า ภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เกิดขึ้นไม่บ่อย มีตัวเลขเฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า โอกาสเกิดขึ้นแค่ 1 ในแสนคนเท่านั้น โดยแบ่งกลุ่มเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่อีกคือกลุ่มนักกีฬาที่อายุเกิน 35 ปี จะมีเรื่องของเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ อย่างไรก็ตามภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ก็ยังพบได้อยู่ในอัตราส่วนที่ลดลง
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีนักฟุตบอลเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 คน แต่ที่ทำให้ฟีฟ่าหันมาสนใจเรื่อง ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เกิดมาจากเหตุการณ์ในศึกคอนเฟดเดอเรชั่น คัพในปี 2003 ของมาร์ค-วิเวียน โฟเอ (Marc-Vivien Foe) กองกลางชาวแคเมอรูน เกมวันนั้นดำเนินมาถึงนาทีที่ 72 อยู่ดี ๆ กองกลางคนนี้ก็ล้มลงไปดื้อ ๆ เช่นเดียวกับ ‘อีริคเซน’ ทว่าในยุคนั้นยังไม่มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ทีมแพทย์ได้มีการจับตัวโฟเอพลิกไปพลิกมา เวลาผ่านไปหลายนาทีก็ยังไม่มีการทำ CPR (การทำ CPR ทันเวลามีโอกาสที่นักกีฬาจะมีชีวิตรอดถึง 70%) จนท้ายที่สุดโฟเอเสียชีวิตในห้องแพทย์โดยที่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลเสียด้วยซ้ำ
การเสียชีวิตครั้งนั้นของมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ไม่ใช่ความตายที่ไม่มีความหมาย เพราะทางฟีฟ่าและยูฟ่าต่างตระหนักถึงความสำคัญของภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ว่าสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะเป็นนักกีฬาที่สุขภาพแข็งแรงก็ตามที จึงได้มีการเพิ่มหลักสูตรการทำ CPR และใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า รวมถึงติดตั้งเครื่อง AED ให้มีไว้ติดสนามอยู่เสมอ ทำให้เหตุการณ์ต่อ ๆ มารวมถึงล่าสุดกับ ‘คริสเตียน อีริคเซน’ ทุกคนต่างรู้ว่าดีว่า ทุกวินาทีคือความเป็นความตายของนักกีฬาและเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส