ทุกวันนี้ความนิยมรองเท้าสูงขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่ามีการหยิบรองเท้าในตำนานหลาย ๆ คู่ออกมาประมูลสร้างมูลค่าและเรื่องราวให้กับตลาดรองเท้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าบาสเกตบอล รองเท้าวิ่ง ไปจนถึงสนีกเกอร์หลาย ๆ คู่ และนี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อบริษัท Sotheby’s บริษัทที่มีชื่อเสียงเรื่องการประมูลสินค้าหายากจากประเทศอังกฤษได้นำรองเท้าวิ่งระดับตำนาน เพราะว่ามันเป็นรองเท้าต้นแบบของรองเท้าวิ่ง Nike ในยุค 70s ออกมาให้ผู้คนที่สนใจเป็นเจ้าของ ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะมียอดประมูลสูงถึง 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

รองเท้าคู่นี้เป็นรองเท้าตะปู หรือรองเท้าที่ใช้สำหรับวิ่งในสนามแทร็ก สร้างขึ้นในปี 1960 ออกแบบโดยบิลล์ บาวเวอร์แมน (Bill Bowerman) โค้ชวิ่งและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอุปกรณ์กีฬาอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Nike ซึ่งมีลักษณ์เด่นคือรองเท้าสีขาว แปะโลโก้สีแดงก่อนที่จะใช้ Nike Swoosh เหมือนอย่างในปัจจุบัน และยังใช้พื้นตะปูอยู่ อย่างที่รู้กันว่ารองเท้า Nike ยุคแรกพลิกวงการวิ่งด้วยพื้นวาฟเฟิล ที่ได้ไอเดียมาจากแผ่นวาฟเฟิลนั่นเอง

“รองเท้ากรีฑาคู่นี้ผลิตขึ้นในปี 1960 และดัดแปลงต่อในช่วงต้นทศวรรษ 70 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแบรนด์ Nike ด้วยโลโก้ต้นแบบสีแดง ที่มีความคล้ายคลึงกับโลโก้ Nike Swoosh ในปัจจุบัน” Sotheby’s ระบุรายละเอียดของรองเท้าคู่นี้และคาดว่าจะมีราคาประมูลสูงถึง 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 40 ล้านบาทเลยทีเดียว เดิมทีรองเท้าคู่นี้ผลิตขึ้นสำหรับแฮร์รี เจอโรม (Harry Jerome) ใช้วิ่งในโอลิมปิกปี 1964 ที่กรุงโตเกียว เขาเป็นนักวิ่งระยะ 100 เมตร ชาวแคนาดาที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ นอกจากคู่ที่นำออกมาประมูลแล้วยังมีอีกคู่หนึ่งจัดแดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนด้วย ตลอดจนยังเป็นต้นกำเนิดให้กับ Nike Moon Shoe พื้นวาฟเฟิลที่เราคุ้นเคยกัน

Converse Fastbreak ของไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) / เครดิตรูปภาพจาก Sotheby’s

นอกจากนี้ยังมีการประมูลรองเท้าผ้าใบสองคู่คือ Converse Fastbreak ที่ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ใส่แข่งขันในโอลิมปิกปี 1984 รวมถึงรองเท้าทองคำของไมเคิล จอห์นสัน (Michael Johnson) นักวิ่งเจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิกด้วย ทั้งนี้การประมูลจะเริ่มต้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นวันเดียวกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 อย่างเป็นทางการนั่นเอง

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส