คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นและยังคงเป็นปริศนาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 น่ันก็คือ การที่ผู้ป่วยแต่ละคนต่างมีอาการที่แสดงออกมาไม่เท่ากัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบางคนอาจไม่พบอาการรุนแรง หรือมีอาการแต่เพียงเล็กน้อย แต่ในขณะที่บางคนกลับมีอาการป่วยที่รุนแรงมาก งานวิจัยล่าสุดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือไม่ อาจเกี่ยวข้องกับ “น้ำตาลในเลือด” ของผู้ป่วย

‘รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เกี่ยวกับปัจจัยบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยโควิดนั้นมีผลอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Frontiers in Public Health’ ฉบับวันที่ 28 กรกฏาคม 2021 โดย ‘ดร.เอ็มมานูแอล โลแกตต์ ‘ (Emmanuelle Logette) และคณะวิจัยในโครงการ ‘The Blue Brain Project’ แห่งสถาบัน ‘École Polytechnique Fédérale de Lausanne’ (EPFL) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โควิด-19

ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยี Machine learning มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานวิจัยโรคโควิด-19 แบบเปิด หรือ ‘COVID-19 Open Research Dataset’ (CORD-19)* มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลบทความวิจัยกว่า 240,000 ฉบับ และพบคำว่า “Glucose” หรือ “น้ำตาลกลูโคส” ปรากฏในงานวิจัยถึง 6,326 ครั้ง ทีมวิจัยจึงทำการค้นหาบทบาทของกลูโคส ที่อาจทำให้มีผลต่ออาการป่วยของโรคในระดับชีวเคมีต่อไป

ซึ่งในงานวิจัยได้ให้ข้อบ่งชี้ดังนี้

  • โดยปกติแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลต่อระดับความรุนแรงของโรคก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในความเป็นจริง คนที่มีอายุน้อยก็มีโอกาสที่จะป่วยขั้นรุนแรงได้ ซึ่งระดับกลูโคสที่สูงขึ้นในเลือดนั้นส่งผลต่อผู้ป่วยที่มีอายุน้อย หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็ตาม
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ทำให้การตอบสนองระบบภูมิคุ้มกันของปอดลดต่ำลง ทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการแพร่เชื่อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ แต่ในฐานข้อมูล CORD-19 ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมระดับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดภาวะ ‘Cytokine storm’ หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วของสารไซโตไคน์ (โปรตีนที่ใช้ในการสื่อสารภายในระบบภูมิคุ้มกัน) และภาวะ ‘Acute Respiratory Distress syndrome’ (ARDS) หรืออาการอักเสบเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งการอักเสบขั้นรุนแรง (Hyperinflammation) และการแข็งตัวของเลือด (Procoagulation)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นทำงานร่วมกับกลไกที่ไวรัสโควิด-19 เข้าไปหยุดการทำงานของตัวรับ (ACE 2 receptor) บนเซลล์ ทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น เช่น ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานล้มเหลว และเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombotic)
  • น้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น เอื้อให้เกิดสภาวะที่เอ้ือต่อเชื้อไวรัสด้วยการที่มีกลูโคสเคลือบอยู่บนโปรตีนหนามบนไวรัส สามารถทำให้ไวรัสผ่านเข้าระบบภูมิคุ้มกันของปอดได้
  • การรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการควบคุมน้ำตาลในเลือด แต่หากสมมติฐานของงานวิจัยนี้ถูกต้อง การจัดการระดับน้ำตาลจะกลายเป็นอีกวิธีในการควบคุมระดับอาการของโรค
  • ผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 80% มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการเพิ่มการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาไปด้วยเพื่อให้อาการดีขึ้น
  • ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงคือ การใช้ยา ‘Metformin’ (เมตฟอร์มิน) สำหรับใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่ได้รับการรับรองจาก FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) แล้ว
  • นอกจากนี้ ยาเมตฟอร์มินยังมีฤทธิ์ในการช่วยต้านอาการอักเสบ (จากการลดระดับของ C – Reactive Protein) ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการแข็งตัวของเลือด และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
โควิด-19

โดย ณ ขณะนี้ ยังเป็นผลการวิจัยจาก Machine Learning จากฐานข้อมูลเป็นเบื้องต้น โดยหลังจากนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในคลินิกอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสที่สูงขึ้นนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ขึ้นจริง


อ้างอิง
Facebook Jessada Denduangboripant
A Machine-Generated View of the Role of Blood Glucose Levels in the Severity of COVID-19

*’ฐานข้อมูลงานวิจัยโรคโควิด-19 แบบเปิด’ (COVID-19 Open Research Dataset) หรือ ‘CORD-19’ เป็นฐานข้อมูลแบบเปิดเพื่อเป็นศูนย์กลางงานวิจัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, มูลนิธิ Chan Zuckerberg Initiative, Microsoft Research ฯลฯ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส