ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเราได้ยินคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเองเราเองใช้ ‘เสียงสอง’ กับสัตว์เลี้ยงอย่างหมาหรือแมว เด็กทารก ไปจนถึงสิ่งที่รักอื่น ๆ บ้างก็ว่าน้องนู่นน้องนี่ เชื่อว่าต้องมีสักครั้งที่คุณหลุดปากเรียกออกไปบ้าง ขอให้รู้ไว้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายอยู่

คอร์ตนีย์ กลาสฮาว (Courtney Glashow) นักจิตวิทยาและเจ้าของสถาบัน Anchor Therapy ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศอเมริกา กล่าวถึงสาเหตุของการใช้ ‘เสียงสอง’ ของมนุษย์กับเด็กทารกหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นเพราะว่าสัญชาตญาณในการสื่อสาร เมื่อมนุษย์ต้องการพูดกับเด็กที่ยังไม่เข้าใจภาษา หรือแม้แต่สัตว์ที่อาจฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง มนุษย์เราจะใช้โทนเสียงที่สูงขึ้น รวมถึงพูดช้าลงหรือใช้คำง่ายๆ เพื่อทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเจตนาของตนมากขึ้น

เครดิตรูปภาพจาก https://news.stanford.edu/

โทนเสียงที่สูงขึ้นเป็นการแสดงออกไปในทิศทางบวก เพื่อต้องการสื่อถึงความรักหรือเจตนาที่ดีออกไป โดยไม่มีเจตนาร้ายหรือการคุกคามใด ๆ ขณะเดียวกันอาจใช้การแสดงทางกายภาพประกอบด้วย นอกจากนี้การใช้เสียงสองยังช่วยในการเรียนรู้ของทารก รวมถึงใช้ดึงความสนใจของเด็กๆ ได้เช่นกัน แต่อย่านำไปใช้ในช่วงที่เด็กเริ่มเรียนรู้การพูดจริงจังแล้ว เพราะอาจทำให้เด็กคิดว่าการทำเสียงสูง ๆ เป็นเรื่องปกติ

ในขณะที่การใช้ ‘เสียงสอง’ กับสัตว์เลี้ยงก็ไม่ต่างกัน เพราะมนุษย์เองต้องการแสดงความรักและความต้องการที่จะปกป้องดูแลต่อสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับเด็ก ๆ เอมิลี เบรย์ (Emily Bray) นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ระบุว่า “โทนเสียงของมนุษย์มีผลต่อปฏิกิริยาของสัตว์ โดยเฉพาะกับสุนัข พวกมันรับรู้ความรู้สึกได้จากโทนเสียง ซึ่งการใช้โทนเสียงสูงแสดงถึงความเป็นมิตร” เช่นเดียวกันสุนัขมักจะตอบรับโดยการใช้เสียงสูง ด้วยการแสดงออกเวลาอ้อนหรือร้องหงิง ๆ นั่นเอง

นั่นแสดงว่าเวลาใช้ ‘เสียงสอง’ ของมนุษย์ก็เป็นวิธีการหนึ่ง เพื่อสื่อสารถึงความรักหรือกำลังเอ็นดูอะไรก็ตาม แต่ในบางครั้งการใช้เสียงสูงก็ทำหน้าที่มากกว่านั้น ฉะนั้นจะใช้เสียงสูงใส่ใครก็ระมัดระวังหน่อยนะครับ เดี๋ยวเขาจะไม่ได้เข้าใจว่า ‘รัก’ แต่เป็นอย่างอื่น

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส