แม่สอดปีนี้มีหนุ่มสาววัยรุ่นชาวเมียนมาอย่างน้อย ๆ 33 คนที่เติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยในไทย จะได้มีโอกาสเข้าสู่สถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผู้เขียนมีโอกาสพบปะหนุ่มสาวกลุ่มนี้ รู้สึกประทับใจและชื่นชมความมุ่งมั่นและความซื่อสัตย์ในความคิด นักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าโรงเรียนติวเข้มพิเศษเพื่อสอบใบประกาศนียบัตรจีอี (General Examination Diploma) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะได้นำไปใช้สมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศได้
เนื่องจากนักศึกษาหนุ่มสาวเหล่านี้เติบโตและเรียนรู้ในค่ายผู้อพยพต่าง ๆ ตามตะเข็บชายแดนไทยที่มีอยู่ 9 แห่ง เช่นที่ค่ายบ้านแม่หละ บ้านอุ้มเปี้ยม บ้านแม่ลามาหลวง และค่ายผู้ลี้ภัยอื่นในแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ล่าสุดมีจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งสิ้นประมาณเกือบ 1 แสนคน วัยรุ่นกลุ่มนี้ได้เรียนหนังสือในค่ายเหล่านี้มาอย่างน้อยก็ 10 ปี อายุเฉลี่ยระหว่าง 17 ถึง 23 ปี ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการไทยยอมรับ
ฉะนั้นใบจีอีนี้ถือเป็นใบเบิกทางที่สำคัญมาก ๆ ของนักศึกษาเหล่านี้ ที่โรงเรียนมินมาเฮาในอำเภอแม่สอด นักศึกษาสอบผ่านการคัดเลือกจากค่ายอพยพต่าง ๆ จะได้รับการติวเข้มจากอาจารย์อาสาสมัครทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี
โรงเรียนนี้เป็นสถาบันเดียวในไทยที่เตรียมนักศึกษาหนุ่มสาวที่เติบโตในค่ายอพยพให้เข้ารับการฝึกฝนวิชาสอบ เช่น คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ ยังมีวิชาเสริมทักษะต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของสังคมรอบด้าน และบ่มนิสัยร่วมคิดร่วมมือกัน เพื่อปกป้องชุมชนให้มีสันติภาพและเสถียรภาพ ในโรงเรียนแห่งนี้มีชาติพันธุ์หลากหลายของเมียนมานั่งเคียงบ่าเคียงไหล่กันเรียนรู้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ดะแว หรือ กะเรนนี
นักศึกษาที่สอบผ่านเข้ามาได้สามารถพูดและฟังภาษาอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยหนุ่มสาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เนื่องจากมีอาจารย์และหมอสอนศาสนาให้ความรู้เป็นภาษาอังกฤษในขณะที่นักศึกษาจากชนชาติพันธุ์อื่นจะสู้ภาษาอังกฤษของกลุ่มกะเหรี่ยงไม่ได้เลย
ที่ผ่านมาถึง 15 ปีมีนักศึกษาจบจากที่นี่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในและนอกประเทศมากกว่า 250 คน เป็นตัวเลขที่น่าชื่นชม เพราะผู้บริหารและคนร่วมงานดูแลทุกข์สุขของนักศึกษาเหล่านี้เป็นอย่างดี คนที่จบไปแล้วหลังจากได้รับการศึกษาที่ดี ก็ได้กลับมาช่วยสอน ยอมรับเงินเดือนไม่มาก อยากตอบแทนบุญคุณโรงเรียน
หลังการยึดอำนาจกุมภาพันธ์ปีที่แล้วในเมียนมา วัยรุ่นเหล่านี้มีความรู้สึกรุนแรงว่าระบอบการเมืองทหารที่เป็นอยู่ในประเทศตน ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่ไม่มีคำตอบชัดเจนว่า อยากเห็นสังคมเมียนมาเป็นอย่างไรมีความเป็นพหุอัตลักษณ์มากน้อยแค่ไหน ที่น่าสนใจกลุ่มนักศึกษาที่ได้พูดคุยอยากเห็นเพื่อนที่มาจากทุกชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกัน สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส