วันที่ 5 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยแพร่การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

กรมธรรม์อื่นที่ไม่ใช่กรมธรรม์ประกันภัยโควิด

อาคเนย์ประกันภัย มีจำนวน 5,717,217 กรมธรรม์ และไทยประกันภัย มีจำนวน 199,016 กรมธรรม์ ทั้งสองบริษัทได้จัดการหรือโอนภาระผูกพันไปยังบริษัทประกันภัยผู้รับโอน โดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันที่ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 269 กรมธรรม์ ที่ผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์ใช้สิทธิในการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่น ทาง คปภ. จะเร่งติดตามให้บริษัทแจ้งสิทธิเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยตัดสินใจเลือก ในการคืนเบี้ยหรือการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทใหม่ ซึ่งการโอนกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องจนหมดอายุสัญญา

กรมธรรม์ประกันภัยโควิด

คปภ. ได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางและการแก้ไขปัญหาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบที่ยังมีความคุ้มครองอยู่จำนวน 1,176,773 กรมธรรม์ แบ่งเป็นอาคเนย์ประกันภัย 897,242 กรมธรรม์ และไทยประกันภัย 279,531 กรมธรรม์ โดยสามารถสรุปมาตรการช่วยเหลือได้ดังต่อไปนี้

  1. ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว
    • ยื่นเรียกร้องความเสียหายแล้ว
      • ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนฯ จะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามที่ได้มีการอนุมัตค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
    • ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องความเสียหาย
      • ให้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนฯ จะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์
  2. ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่
    • ขอรับคืนเบี้ยประกันที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนฯ แล้วกองทุนฯ จะคืนเบี้ยให้ ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่
    • นำเบี้ยประกันที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสด ในการเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

เอกสารที่ต้องใช้

กรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยเป็น “เจ้าหนี้” ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทดังกล่าว ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับ พร้อมสำเนาจำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้

  1. กรมธรรม์ประกันภัย
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. ใบเคลม หรือใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้
  4. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)

กรณีเป็น “เจ้าหนี้อื่น” ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทดังกล่าว ให้นำเอกสารต้นฉบับ พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้

  1. หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)

กรณีที่ “เจ้าหนี้” ไม่สามารถยื่นเอกสารได้ด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว

  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย
  • การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ คปภ. ยังย้ำอีกว่า “เจ้าหนี้” ต้องยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ

ช่องทางการสอบถาม

  • กองทุนประกันวินาศภัย โทร. 0-2791-1444 (จำนวน 5 คู่สาย)
  • สายด่วน คปภ. โทร. 1186 (จำนวน 10 คู่สาย)
  • สำนักงาน คปภ. โทร. 0-2515-3999 ถึง 0-2515-3999 กด 0 (จำนวน 11 คู่สาย)
  • สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ ตามหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด (จำนวน 78 คู่สาย)
  • สมาคมประกันวินาศภัยไทย โทร. 02-108-8399 (จำนวน 20 คู่สาย)
  • LINE : @OICConnect)
  • เว็บไซต์ คปภ. www.oic.co.th
การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย

ที่มา : คปภ.