สงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้โลกมีเส้นแบ่งโลกสองขั้วที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ประชาคมโลกต้องหันมาพิจารณาจุดยืนของประเทศตนเอง ส่วนไทยนั้นไม่เคยเลือกข้างใดข้างหนึ่งหลังสงครามเย็นก็พลอยถูกแรงกดดันจากมหามิตรอย่างสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ขณะนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ มีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะผลักให้รัสเซียของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน จนตรอกให้ได้ทั้งในสนามรบและสนามการค้า ในขณะเดียวกันไบเดนยังต้องเผชิญแรงกดดันอย่างร้ายแรงภายในประเทศ เนื่องจากกระแสต้านทานมาตรการเศรษฐกิจและการป้องปรามโควิด จนบรรดากูรูการเมืองอเมริกันฟันธงเรียบร้อยว่า พรรคเดโมแครตคงแพ้การเลือกตั้งกลางเทอมในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน ไบเดนจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนกลับคืนมา ฉะนั้นอเมริกาต้องออกหน้าออกตาชัดเจนว่า สงครามรัสเซียกับยูเครนครั้งนี้ ยูเครนแพ้ไม่ได้ เพราะอเมริกันหนุนเต็มที่
หลังจากที่ทหารยูเครนได้แสดงฝีมือตอบโต้การรุกรานของรัสเซียในช่วงเกือบ 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสมาชิกองค์การนาโต (NATO) และสหรัฐอเมริกาได้ส่งอาวุธทั้งหนักและเบาให้กับทหารยูเครน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับไล่ทหารรัสเซียออกไปให้ได้จากยูเครน ปรากฏว่าตอนนี้ทหารรัสเซียได้ถอนตัวออกจากบริเวณรอบนอกของกรุงเคียฟ เพื่อไปจัดกองกำลังสำรองมาเสริมใหม่ในบริเวณภาคตะวันออกของยูเครนในบริเวณลูฮันสก์และดอนบัส ภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ที่ชื่อนายพลอเล็กซานเดอร์ ดวอร์นิคอฟ นายพลทหารคนนี้มีชื่อเสียงมากในด้านการวางแผนทำสงครามที่ผ่านมาของรัสเซียทั้งในอัฟกานิสถานและซีเรีย เป็นที่โจษจันกันมากในบรรดาวงการความมั่นคงว่าเป็นคนโหดร้าย กล้าถล่มทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าและฆ่าได้ไม่เลือกหน้า
เมื่อสงครามรัสเซียกับยูเครนแบ่งโลกเป็นสองฝ่าย และถูกมองว่าเป็นสงครามของความอยู่รอดระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ จุดยืนไทยจำเป็นต้องอิงและเลือกเอากฎบัตรองค์การสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องเคารพอธิปไตยแห่งดินแดน ในขณะที่ไทยตำหนิการใช้กองกำลังรุกรานประเทศยูเครนนั้นไม่ได้เอ่ยชื่อรัสเซียซึ่งเป็นที่รู้กัน และยังเป็นจุดยืนของประเทศส่วนใหญ่ในองค์การสหประชาชาติ ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีเวียดนามและลาวที่สนับสนุนท่าทีของรัสเซีย ด้วยมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาเป็นเวลานาน สิงค์โปร์เป็นสมาชิกอาเซียนเดียวที่ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย
ตั้งแต่นี้ไป บรรดาประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับโลกสองขั้วนี้จะพยายามดิ้นรนหาทางและรวมตัวกันสร้างระเบียบโลกใหม่ที่ไม่มีประเทศไหนสามารถครองความเป็นเจ้าได้แบบในอดีตที่ผ่านมาเกือบ 70 ปี ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะทำแต่มีความจำเป็นเพราะกิจกรรมต่าง ๆ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น เช่น การแก้ไขวิกฤตภาวะโลกร้อน การกำจัดพลาสติก ต้องอาศัยการริเริ่มและความร่วมมือประเทศกำลังพัฒนาแทบทั้งสิ้น
นโยบายและจุดยืนไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีในทุกโอกาส ประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา 800 กว่าปี ช่วยให้รอดพ้นการเป็นอาณานิคมของประเทศโลกตะวันตกได้ อย่างไรก็ดี ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ฉะนั้นไทยเราต้องเตรียมพร้อมทุกภาคส่วน ในการปรับท่าทีและขยับนโยบายในบางเรื่องให้มีความชัดเจนและจะต้องสนับสนุนความคิดกระแสหลักที่ตั้งอยู่บนหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส