ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย แถลงผลการหารือร่วมกันในกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ Personal Data Protection Act B.E.2562 (PDPA) โดยเตรียมทำหนังสือเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอเลื่อนการบังคับใช้ ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เนื่องจากตัวกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของกฎหมายรอง แต่มีโทษทางอาญาและมีผลถึงกรรมการบริษัท ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องที่ยืดเยื้อในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย หรือสร้างปัญหาและความเสียหายต่อผู้ประกอบการ กกร. จึงเสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจบริการและการค้าที่มีฐานข้อมูลลูกค้าในมือจำนวนมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งมีจำนวนมากประสบปัญหาเงินทุนไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ผู้ประกอบการประมาณ 600,000 – 700,000 ราย จะต้องใช้เงินลงทุนระบบอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท เป็นค่าจ้างทีมงานในการอบรมพนักงาน และปรับระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สำหรับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ถูกเลื่อนมีผลบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจ จึงต้องให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัว และจนถึงปัจจุบัน ภาคเอกชนมองว่า ตัวกฎหมายรองยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการต้องการเวลาอีกระยะในการปรับตัวตามกฎหมายลูก จึงเป็นที่มาของการขอชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก 2 ปี และชะลอบทลงโทษออกไปอีก 3 ปี

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส