หากจะกล่าวว่า ‘คุณบิท ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์’ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เกิดมาเพื่อบิตคอยน์และคริปโทก็ไม่น่าจะผิดไปจากความจริงนัก ด้วยพื้นฐานทางด้านไอที และความสนใจในการลงทุนของเขา โดยเฉพาะการลงทุนในเวลาไปกับความรู้ ทำให้ทั้งสองอย่างนี้มาบรรจบกัน กลายเป็นความสนใจด้านบิตคอยน์และบล็อกเชน และการก่อตั้ง ‘Bitcast‘ สื่อออนไลน์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์และคริปโทชั้นแนวหน้าของไทย
ขุดบิตคอยน์แล้วรวยไหม อาจไม่ใช่คำถามสำคัญในบทสัมภาษณ์นี้ เพราะตั้งแต่ที่เขาเริ่มขุดบิตคอยน์บล็อกแรก เขาไม่เคยเทรดบิตคอยน์ในมือออกมาเป็นเงินเลยแม้แต่บาทเดียว แต่จากบทสัมภาษณ์นี้ เขาจะมาบรีฟให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ แบบ 101 ว่า คริปโทคืออะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญ และเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดในการก้าวเข้ามาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล และคุณค่าที่แท้จริงของการลงทุนในบิตคอยน์ที่แท้จริงมันคืออะไรกันแน่
ก่อนอื่น อยากให้คุณอัปเดตชีวิตให้แฟน ๆ beartai BRIEF รู้หน่อยว่าทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้ เท่าที่ทราบคือคุณเองทำงานหลายด้านมาก
จริง ๆ พี่ทำงานด้านไอทีครับ เกี่ยวกับด้านของ IT Operation ตอนนี้ก็ทำมาประมาณ 20 ปีแล้วนะ เพราะว่าจบมาทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาโทหลักสูตร Executive MBA อยู่ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนเรื่องการงาน ปัจจุบันก็ยังทำอยู่หลายตำแหน่ง ส่วนหนึ่งก็คือทำงานเกี่ยวกับเรื่องของ Business Intelligence and Innovation อยู่ที่บริษัท เจเนอรัล อิเลคทรอนิค คอมเมอร์ซ (General Electronic Commerce Services) ซึ่งอันนี้เป็น Day Time Job
ส่วนงานพาร์ตไทม์ก็คือทำช่องยูทูบเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และเทคโนโลยีบล็อกเชน ในชื่อช่อง ‘Bitcast’ และตอนนี้เราเองก็พยายามจะปล่อยเนื้อหาที่เราทำไปยังช่องทางอื่น ๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก พอดแคสต์ด้วย และก็จะมีงานที่จริง ๆ เรียกว่าเป็นงานเพื่อเติมเต็ม เป็นงานที่เราทำเพื่อสังคมด้วย ก็คือการเป็นนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Asset Association) ครับ ที่อยากทำเพราะว่าจุดประสงค์ในการก่อตั้งสมาคม มันก็ตรงกับวิสัยทัศน์ของเราที่ทำแชนแนลขึ้นมา นั่นก็คือต้องการที่จะให้ความรู้กับคนทั่วไปในเรื่องนี้ ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้ตอนนี้เราเองทำงานหลากหลายมาก ๆ
เท่าที่ทราบมาก็คือ คุณเองสนใจการลงทุนมาก่อนที่จะมาสนใจบิตคอยน์ด้วยซ้ำ คุณเริ่มสนใจการลงทุนมาตังแต่ต่อนไหน สนใจได้อย่างไร
แน่นอนว่าเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนมันก็คงไม่เหมือนกันเนอะ ถ้าเป็นในมุมของเราเอง เรามองว่า การลงทุนคือการใส่แรงลงไปในบางสิ่งบางอย่าง และเราได้ผลตอบแทนตามความคาดหวังหรือเป้าหมายของเราที่มากกว่าแรงที่ใส่ลงไป ตอนแรก ๆ ที่เริ่มเข้ามาศึกษา แน่นอนว่ายังไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือบิตคอยน์หรอก แต่เราเริ่มต้นศึกษาปรัชญาของมันก่อนว่าการลงทุนคืออะไรกันแน่ แล้วเราเองก็ค้นพบว่า จริง ๆ แล้ว เราเองมีทรัพยากรเท่า ๆ กัน นั่นก็คือเวลา ถ้าไม่นับว่าใครตายก่อนหลังนะ เราก็เลยรู้ว่า เราควรเอาเวลาที่มีค่าไปลงทุนกับสิ่งที่เกิดประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด นั่นแหละคือการลงทุนสำหรับเรา
เมื่อเราได้จุดตั้งต้นอันนี้ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะพิจารณาว่า สิ่งที่เราใส่ลงไปมันเป็นประโยชน์กับตัวเราในอนาคตหรือไม่ ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้เราเริ่มต้องการจะหารายได้เสริมจากงาน Day Time Job อย่างแรกก็คือเริ่มฝึกถ่ายรูป และถ่ายรูปขายในเว็บ Stock Photo เพราะว่าเราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ก็แค่เปลี่ยนสิ่งที่เราชอบมาเป็นงานพาร์ดไทม์ อย่างน้อยก็ได้เงินเพิ่มขึ้นมา และได้เติมเต็มสิ่งที่เราชอบ จากนั้นก็เริ่มดันตัวเองไปเป็นช่างภาพวิดีโอ และช่างภาพถ่าย Pre Wedding ด้วย
แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มศึกษาการลงทุน แต่ก่อนที่จะศึกษาเรื่อง Digital Asset เราเริ่มศึกษาจากตลาดทุนก่อน เราเริ่มเห็นความเสี่ยงอันหนึ่งว่า ถ้าเกิดเราแก่ตัวลง แรงไม่มี ความจำไม่ดี คงไม่มีใครอยากให้เราทำงาน แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนใช้ เราก็เลยคิดว่า ตอนนี้ที่เรายังมีแรงอยู่ เราต้องเอาแรงและเวลาไปสะสมเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามที่เราไม่มีเวลาและไม่มีแรง มันก็เลยเป็นตัวกระตุ้นให้เราเริ่มศีกษาการลงทุนที่ให้ผลในระยะยาว เวลาลงทุนในตลาดทุน เราก็เลยจะมองแบบ Long-Term อยู่ตลอด
ทีนี้มันมีจุดพลิกผันก็คือ เราได้มารู้จัก Digital Asset กับ Cryptocurrency นี่แหละ ตอนแรกที่เรารู้จักเลยคือตอนปี 2014 ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องสนใจอะไร เพราะตอนนั้นเรามองว่า บิตคอยน์คงเป็นแค่สิ่งที่คนเขาเห่อตามกระแสกัน เดี๋ยวพอเลิกเห่อก็หมดกระแสไป พอมาถึงปี 2016 เราเห็นเพื่อนใช้เหมืองขุดบิดคอยน์ให้เราดู ใช้คอมพิวเตอร์ของเขาเอง แล้วก็เสียแค่ค่าไฟ ก็เท่ากับว่าแทบไม่มีความเสี่ยงเลยนะ พอคิดถัว ๆ แล้วได้กำไร เราก็เลยมองว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ทดลองได้
ก็เลยเริ่มเอาคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แล้วก็เริ่มขุด เริ่มเข้าใจในเทคโนโลยีของมัน เริ่มเข้าใจกลไก เทคนิกของมัน แต่ยังไม่เข้าใจในแง่ของ Valuation (การตีเป็นมูลค่า) พอเราเริ่มศึกษามากขึ้น ก็เลยทำให้เราเริ่มที่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุน พอเราศึกษาอย่างลึกซึ้ง เราถึงเริ่มเข้าใจว่า ความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในตลาดทุนหรือบิตคอยน์ที่คนมองว่ามันเสี่ยง จริง ๆ แล้วสิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่สุดคือ การที่เราไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ คนข้างนอกอาจมองว่ามันเสี่ยง แต่พอเราเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง เรามองว่ามันไม่เสี่ยง เพราะเรารู้ความเสี่ยง เราเลยสามารถรับความเสี่ยง และจัดการบริหารความเสี่ยงได้
มันเหมือนกับเวลาเราขับรถ เรารู้สึกว่ามันเสี่ยง แต่ถ้าเราขับรถเป็น บางทีการขับรถเร็วอาจไม่ได้แปลว่าเสี่ยงนะ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจการขับรถ ต่อให้เราขับรถช้า คุณก็เสี่ยงอยู่ดี เพราะฉะนั้นความเสี่ยงในมุมมองของผมคือ การที่คุณไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งอันนี้มันเป็นความเสี่ยงสุด ๆ แล้ว ผมเลยกล้าที่จะแบ่งเงินลงทุนจากพอร์ตที่มีอยู่ ลงมาในพอร์ตคริปโท ช่วงแรก ๆ ประมาณ 10% ของพอร์ต เพื่อเป็นการศึกษาให้เข้าใจการบริหารความเสี่ยง การบริหารเงิน เข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่เรากำลังลงทุน
คุณเริ่มศึกษาเรื่องเกี่ยวกับบล็อกเชนได้อย่างไร ในยุคนั้นที่ข้อมูล หรือการเข้าถึงก็น่าจะยังไม่ได้ง่ายและแพร่หลายเท่าทุกวันนี้
ตอนที่พี่เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ มันเป็นช่วงปี 2000 ที่อินเทอร์เน็ตมันยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ แต่เท่าที่ศึกษา เราพบว่าจริง ๆ เรื่องพวกนี้มันก็ทาบทับกับสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ คือเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อก่อนเราจะใช้อินเทอร์เน็ตในเชิงธุรกิจ มีแค่เว็บไซต์ และคนที่จะเข้าใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในระดับองค์กร บริษัทใหญ๋ ๆ ซะเป็นส่วนมาก แล้วส่วนใหญ๋ก็ใช้แค่เอาไว้ทำงาน เช่นส่งข้อมูลหากัน เพราะตอนนั้นเวลาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม 56k ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ 40,000 – 50,000 บาท คนทั่วไปใครจะไปมีปัญญาใช้
แต่ว่าพอมาดูตอนนี้ ที่ทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ตใช้ในโทรศัพท์ของทุกคนเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ถ้าเราเกาะกระแสไปเรื่อย ๆ เริ่มศึกษา เริ่มแหย่ขาเข้าไปในเทรนด์ มันน่าจะทำให้เราสามารถเข้าไปหาประโยชน์จากการทำธุรกิจได้ ก็เลยเริ่มลองเข้ามาศึกษา เราอาจจะไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่สิ่งที่เราต้องการคือข้อมูลที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ยังไงเราก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้มากกว่าคนอื่น
เล่าได้ไหมว่าตอนที่ขุดบิตคอยน์ครั้งแรก คุณได้กำไรขาดทุนเท่าไร
โห พี่จำไม่ได้เลยนะตอนนั้น มันเป็นเพราะว่าเราไม่เคยเอาไปเทียบกับเงินบาทเลย เพราะว่าช่วงแรก ๆ ที่พี่เริ่มขุด ด้วยความที่เราเองก็ยังกลัวเรื่องความเสี่ยง เราเลยคำนึงว่า ไอ้ 10% ที่เราตัดมาลงทุน ต้องเป็นเงินที่ยอมเสียได้ เราก็เลยมีกฏว่า จะไม่เพิ่มเงินเข้าไปมากกว่านี้อีกแล้ว เท่าไหร่ก็เท่านั้น ใช้ตรงนี้บีบให้เราศึกษาข้อมูลเพิ่มโดยที่จะไม่ใส่เงินเข้าไปอีก แล้วก็จะไม่เอาบิตคอยน์ที่ขุดได้ไปขายเป็นเงินบาท แต่เราจะเอาสิ่งที่ขุดได้ไปทำลักษณะเหมือนเป็นเงินต่อเงินอีกที จะไม่มีการ Cash Out ออกมา เพราะฉะนั้นเราจะรู้แบบกลม ๆ แต่คงไม่ได้ไปนั่งจดว่าจะได้เท่าไหร่ขนาดนั้น
เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังทำมาหากินได้ ก็เลยเอาตรงนี้แหละเป็นเหมือนกับบทเรียนของเรา ให้เราได้เข้าใจในตัวมัน เวลาเราขุดได้ เราก็จะเอาไปแลกเป็นเหรียญ (Token) ที่อยากได้ อาจจะไปแลกเป็นบิตคอยน์ แลกเป็น USDG เพื่อเอาไปทำอะไรบางอย่างต่อ ตอนนั้นเราเลยพยายามหาเหรียญที่ได้ผลตอบแทนโดยที่เราไม่ต้องไปลงแรงกับมันมาก แล้วก็เอาเหรียญที่ได้ไปทำ Staking ก็คือการเอาเหรียญไปฝาก (เพื่อใช้ตรวจสอบธุรกรรมที่ทำผ่านบล็อกเชน) แล้วก็จะได้เป็น Reward กลับมา
แต่แผนอันนี้ก็ไม่สำเร็จนะ เพราะเรายังไม่เข้าใจว่าในโลกของคริปโท มันมีความกาวอยู่เยอะมาก ตอนนั้นเราก็ยังอ่อนต่อโลก ไม่ค่อยเข้าใจอะไร แต่อันนี้มันก็เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า เวลาถ้าเราเปิดใจเรียนรู้ เราก็จะได้สิ่งที่อยากได้นั่นแหละ กำไรที่ได้ตอนนั้นไม่ได้เยอะหรอก แต่ว่าเราเข้าใจในการทำงานของมัน เราได้รู้ว่าการ Staking เอา Reward พอคิดไปมาแล้วมันขาดทุนนี่หว่า อะไรแบบนี้
การเติมเงินเข้าไปในระบบตามความหมายของพี่คือการจ่ายค่าไฟทุกเดือน ๆ โดยไม่ได้ Cash Out ซึ่งก็เปรียบเสมือนการที่เราลงเงินซื้อเหรียญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนหลังถึงรู้สึกว่า มันเหนื่อยนะ กับการต้องแบกภาระค่าไฟทุก ๆ เดือนแต่ขาดทุนเพราะราคาเหรียญมันตก และเรารู้ว่า แทนที่เราจะเอาเงินไปซื้อเครื่องขุด เราเอาเงินตรงนั้นมาเฉลี่ยแล้วทำ DCA (Dollar Cost Averaging – การลงทุนโดยถัวเฉลี่ยต้นทุน) กับเหรียญที่เราอยากซื้อง่ายกว่า ยืดหยุ่นได้มากกว่า มันเลยถึงจุดที่เราเลิกเป็นสายขุด
อันนี้เลยเป็นสิ่งที่เรามักจะตอบกับคนที่มาถามว่าจะเป็นคนขุดดีไหมว่า ถ้าไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจ อย่าทำ แต่ถ้าคุณจะทำเป็นธุรกิจ มีคน มีการบริหารจัดการที่พร้อม คุณทำได้ อีกอย่างที่เรากังวลตอนเป็นสายขุดก็คือ เราไปทำเหมืองขุดที่บ้านแม่ยาย แล้วเรากลัวว่าบ้านจะไฟไหม้ (หัวเราะ) เราก็จะนอนกังวล มันจะมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า เราจะทำให้แม่เขาำลำบากหรือเปล่านะ จนถึงจุดหนึ่งเราเลยบอกว่า ไม่เอาดีกว่า ถ้าคุณไม่ได้ทำงานอะไรเลย นั่ง ๆ นอน ๆ เฝ้าเหมืองขุดไป อันนี้โอเคนะ แต่ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้น ยาก
แต่ถ้าถามว่าตอนนั้นได้กำไรแค่ไหน ก็ถือว่าได้กำไรไม่เยอะนะ บางเหรียญก็ขาดทุน บางเหรียญก็ได้กำไรหลายเท่า ถัว ๆ กันก็ถือว่าได้กำไรบ้างในช่วงแรก ๆ แต่ถ้าเป็นเหรียญ ICO (Initial Coin Offering – การระดมทุนทำธุรกิจด้วยเหรียญคริปโท และจ่ายคืนในรูปของ Token) นี่คือเจ๊งยับเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นยอมรับว่าดูไม่เป็น ถึงตอนนี้ก็ยังดูไม่เป็น จนกระทั่งเราเลิกเล่นพวกนี้ แล้วไปเล่นเหรียญใหญ๋ ๆ แทน เหมือนเวลาเราซื้อหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ พวกหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน หรือบริษัทใหญ๋ ๆ ที่เราคิดว่ามันจะไม่ล้มแน่ ๆ แบบนั้นง่ายกว่า แล้วก็ไม่ต้องใช้เวลามากด้วย
เท่าที่คุณลงทุนกับบิตคอยน์มาตลอด ในมุมมองของคุณ บิตคอยน์มีจุดเด่น-จุดด้อยอะไรบ้าง
ตัวพี่เองมองแบบนี้ เรารู้ว่าอินเทอร์เน็ตคือโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลเนอะ แต่ในยุคบล็อกเชน จริง ๆ มันก็คืออินเทอร์เน็ตอีกเลเวลหนึ่ง อธิบายง่าย ๆ ก็คือ อินเทอร์เน็ตยุคแรกมันคือ Information Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล) ซึ่งถ้าเรามองมันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เราจะไม่ไปมองมันว่าเป็นบ่อนการพนันหรืออะไร แต่เราจะมองมันเป็น Value Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานของมูลค่า) มันเหมือนกันว่าเราเป็นเจ้าของถนน แล้วเรารู้ว่ารถจะวิ่งบนถนนเส้นนี้แน่ ๆ ในอนาคต เราจะไม่ทำแบบว่า ซื้อแล้วก็ขาย ๆ หรอก ใช่ไหม
ฉะนั้น วิธีคิดก็คือ เราต้องดูว่า บล็อกเชนตัวไหนที่มีศักยภาพเป็น Value Infrastructure และมีคอนเซ็ปต์ มีคาแรกเตอร์ตามที่มันเป็น อย่างเช่นบิตคอยน์ เขาบอกว่าคอนเซปต์ของมันคือ การเป็นสกุลเงินในโลกอนาคต ซึ่งพี่ก็มองว่า ความแข็งแกร่งของมันเอง ทำให้มันกลายเป็นที่หนึ่งแบบไม่มีใครมาล้มมันได้ แต่มันจะมาแทนค่าเงินในโลกจริงได้ไหม มันก็ทั้งได้และไม่ได้นั่นแหละ ไม่มีใครรู้หรอก
แต่สิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่งคือ ถ้าพี่ว่า เราสามารถมองโลกของอินเทอร์เน็ต และแยกโลกของบล็อกเชนออกมา มันก็คือทองคำของโลกอินเทอร์เน็ต เหมือนในโลกจริงที่เรามีทองคำ พี่เลยมองว่า บิตคอยน์มันอาจจะกลายเป็น Reserve Currency (สกุลเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรอง) ในโลกของ Value Infrastructure ก็ได้ อันนี้คือวิธีคิดของพี่เองนะ
ถ้าคิดแบบนี้ เราก็จะสบายใจที่จะลงทุนใน Value Infrastructure ส่วน Token อื่น ๆ มันก็จะมีโครงสร้างที่ต่างกันออกไป อย่างเช่น Ethereum ก็มีโครงสร้างอีกแบบ คือมีลักษณะเป็น Cloud Computing ที่เราสามารถเขียนโปรแกรม Smart Contract (โปรแกรมขนาดเล็กที่เก็บในรูปของบล็อกเชน Ethereum) เข้าไปปรับใช้บนตัว Ethereum ได้ อันนี้ก็เป็นอีกจุดแข็งที่มีความแตกต่าง ถ้านึกเป็นหุ้นก็คือ เหมือนเราอยากเข้าไปถือหุ้นของ ‘Amazon Web Services’ นั่นแหละ ถ้าเรามองเห็นภาพนี้ เราเข้าใจว่าจุดประสงค์ที่เขาสร้างขึ้นมามันคืออะไร เราก็จะสบายใจในการถือยาว ไม่ได้ไปสนใจราคาที่มันแกว่งไปแกว่งมาหรอก
อีกตัวหนึ่งคือ Solana อันนี้ก็มีลักษณะเป็น Cloud Computing เหมือนกัน แต่สามารถทำ Transaction Throughput (จำนวนธุรกรรมทั้งหมดที่รองรับได้ในแต่ละครั้ง) ได้ 50,000 Transactions ต่อวินาที แล้วก็วางตัวเองว่า จะเป็น Infrastructure ให้กับเกม (GameFi) หรือแม้แต่ NFT ก็มารันบนนี้ได้ เราต้องหาให้ได้ว่าแต่ละตัวมันมีเอกลักษณ์อะไร
ถ้านับกันจริง ๆ บิตคอยน์มันเกิดขึ้นตอนปี 2008 บล็อกแรกของบิตคอยน์เกิดขึ้นตอนปี 2009 อายุมันแค่ 13 ขวบเองนะ มันอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาตัวเองว่ามันกำลังจะไปทางไหนดี ถ้าเราลงทุนในเด็กคนหนึ่งที่ค้นพบตัวเองแล้วว่าจะไปทางไหน อันนี้มันก็น่าจะเป็นมูลค่าได้หรือเปล่า อธิบายสรุปก็คือ แต่ละตัวมันก็มีข้อดีข้อเสียของมันเอง มันอยู่ที่วิธีคิดของเราว่าเราคิดอย่างไรกับเทคโนโลยีนี้ ซึ่งคนที่ไม่ได้เห็น เขาก็มองมันเป็นอากาศธาตุ ไม่ได้มี Economic Value หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไร
ถ้าคิดในมุมของ Economic Value ก็ใช่ มันไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่สิ่งนี้มันก็ไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตสมัยก่อนหรอก ถ้าสมัยก่อนเราเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตได้ ธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตมันจะเป็นประโยชน์อะไรต่อเรา ลองคิดดูว่ามูลค่าของเรามันจะมากขนาดไหน แต่สมัยก่อนมันไม่ได้มีแบบนี้ไง คนเราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดจาก Web 2.0 ไปสู่ Web 3.0 ที่จะต้องมีความเป็นเจ้าของ (Ownership) อยู่ในนั้นด้วย
และสิ่งนั้นมันต้องมีแอปพลิเคชันที่เหมาะสมที่จะเข้าไปจัดการด้วย แต่พอตอนนั้นยังไม่มี พอมีคนพูดทีหนึ่ง คนส่วนใหญ๋ก็จะมองเรื่องนี้ว่ามันเพ้อเจ้อ ใช่ไหม แต่ถ้าเรื่องนี้มันถูกพูดโดย Microsoft ถูกพูดโดยบิล เกตส์ (Bill Gates) มันจะกลายเป็นคำพูดที่ดูมี Vision ขึ้นมาทันทีเลย มันต้องรอให้คนประจักษ์ ต้องมีคนคิดวิธีการแก้ปัญหา ต้องมีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี และก็ต้องใช้เวลาประกอบด้วย ปัจจุบันมันอาจจะยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจและบอกว่ามันทำอะไรได้บ้าง เราก็จะสามารถประเมินว่ามันจะทำอะไรได้บ้างในอนาคต ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ มันก็เพียงพอที่จะทำให้เราเข้ามาศึกษา เข้ามาหาโอกาสในพื้นที่นี้
เท่าที่ฟังคุณมา ดูเหมือนคุณจะถือบิตคอยน์ในลักษณะถือยาว หรือ VI (Value Investment – การลงทุนเน้นคุณค่า) แต่บางคนที่เข้ามาลงทุนในบิตคอยน์ อาจจะซื้อมาขายไปแบบหวือหวา หรือ MI (Momentum Investor – การลงทุนเน้นรอบซื้อขายตามจังหวะตลาด) ในมุมมองของคุณ การลงทุนในบิตคอยน์มันเหมาะกับสาย VI หรือ MI มากกว่ากัน
ต้องอธิบายแบบนี้ พี่ไม่ค่อยอยากจะใช้คำว่า VI เพราะว่าเดี๋ยวสาย VI ก็จะมาด่าพี่ เพราะคนเรามองคำว่าคุณค่าไม่เหมือนกัน คนที่ลงทุนแบบ VI ในตลาดทุน เขามองคุณค่าของธุรกิจจากกิจกรรมที่ธุรกิจทำ แต่ตัวบิตคอยน์ มันไม่ได้วัดออกมาได้แบบ Economic Value แต่มันมีคุณค่าในเชิงของการไร้ศูนย์กลาง (Decentralize) กับเรื่องของความเป็นส่วนตัว
ซึ่งอันนี้แหละ มันขึ้นอยู่กับคนว่าจะให้คุณค่ากับมันยังไง นึกออกใช่ไหม อย่างเช่นเราบอกว่า คนเราให้คุณค่ากับทองคำ แต่บางคนบอกว่าทองคำไม่ได้มีค่าอะไร เรามัวแต่เถียงกันจนละเลยสาระสำคัญจริง ๆ ว่าทำไมเรามองว่ามันถึงมีค่า ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ แต่มันอยู่ที่ว่าเขาจะให้ค่ากับมันอย่างไร
พี่เรียกบิตคอยน์ว่าเป็น Long-term Investment ดีกว่า ถ้าเกิดในอนาคตถ้าต้องมีการใช้เน็ตเวิร์กของบิตคอยน์ มันก็ต้องใช้บิตคอยน์นี่แหละ เพราะว่ามันเป็น Native Token ที่อยู่บนบล็อกเชนอยู่แล้ว แต่ถ้าระบบมันไม่เอื้อ แน่นอนว่าบิตคอยน์มันก็จะไม่เกิด สิ่งที่บิตคอยน์ต้องทำก็คือ ต้องเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มันถึงจะตอบโจทย์ในเชิงมูลค่า ซึ่ง ณ ตอนนี้มันก็ตอบโจทย์ของมันเองได้แล้ว พี่เลยมองว่า ไม่ว่าจะเหรียญอะไร มันสามารถลงทุนในระยะยาวได้หมดเลย
เอาแบบสรุปก็คือ บล็อกเชนจริง ๆ แล้วมันก็คือ Infrastructure ในโลกยุคใหม่นั่นแหละ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังไม่ได้เชื่อมต่อกับโลกแห่งความเป็นจริง มันยังไม่ได้เชื่อมต่อกับอาหาร ที่อยู่อาศัย แต่พี่เขื่อว่า โลกความเป็นจริงมันจะมาเชื่อมต่อกับสิ่งเหล่านี้เอง พี่ก็เลยมองว่ามันก็ยังมีอนาคตในการลงทุนระยะยาวอยู่ แต่มันก็คงบอกไม่ได้หรอกว่าในอนาคตมันจะใช่หรือไม่ใช่ มันไม่มีใครรู้หรอก แต่การแหย่ขาเข้ามา มันก็เหมือนเป็นการกระจายการลงทุนอย่างหนึ่งเหมือนกัน
จุดกำเนิดของแชนแนล ‘Bitcast‘ เกิดจากอะไร นำเสนอเนื้อหาอะไรบ้างที่เกี่ยวกับคริปโท
ที่เปิดแชนแนล จริง ๆ อย่าเรียกว่าให้ความรู้เลย เรียกว่าอยากแชร์ความรู้ให้กับคนที่สนใจดีกว่า ไอ้สิ่งที่เราศึกษามา ถ้าเราไม่ได้เอามาแชร์ให้คนอื่น ประโยชน์มันก็น้อย เวลาที่เราค้นหาข้อมูล 1 ชั่วโมง เรามานั่งอธิบายให้คนอื่นดู 10 คน มันก็เป็นการขยาย Productivity ให้กับเราเท่ากับ 10 ชั่วโมง ก็เลยทำแชนแนลขึ้นมาดีกว่า อธิบายให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ แบบภาษามนุษย์
ช่วงแรก ๆ ที่ทำ พี่ก็มานั่งอ่าน White Paper (เอกสารนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดจากเจ้าของโครงการหรือเจ้าของเทคโนโลยี) ให้คนฟัง เพราะว่าคุณมัวแต่ตื่นเต้นกับโปรเจกต์ แต่คุณเข้าใจจริง ๆ ไหมว่ามันคืออะไร เหมือนเราเองก็หลงไปกับ White Paper เพราะว่ามันเขียนอธิบายอย่างสวยหรูดูดี ไม่ได้คิดเลยว่า เขาไม่ได้ทำตามอย่างที่เขาเขียนนะ คนเขียนก็คือคนเขียนน่ะ ส่วนคนทำอาจจะไม่ได้ทำตามที่คนเขียนเขียนไว้ก็ได้ ทำให้เรารู้ว่าโลกความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร
พอผ่านเฟสนั้น ก็มาอธิบายเรื่องแพลตฟอร์มต่าง ๆ ว่ามันทำงานยังไง DeFi ต้องทำอย่างไรบ้าง ทำให้เขาดูว่าถ้าทำแบบนี้ ผลลัพธ์จะได้แบบนี้ และเรื่องของ Hardware Wallet ที่เรามักจะบอกทุกคนเสมอว่า เวลาเข้ามาตลาดนี้ สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ควรต้องเริ่มต้นเป็นอย่างแรกด้วยซ้ำก็คือ การเก็บรักษา Digital Asset ให้เป็น เพราะต่อให้คุณหาได้เป็นพันล้าน หมื่นล้าน แต่เวลามันหาย มันหายเกลี้ยงเลยนะ สุดท้ายที่เราเน้นก็คือ การวิเคราะห์ข้อมูลในบล็อกเชน (On-Chain Analysis) เป็นการเอาข้อมูลในเชนมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวม หรือเห็นการเคลื่อนไหวของบิตคอยน์ อันนี้ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราเน้นในแชนแนลครับ
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แนะนำให้ประชาชนดูสารคดี ‘Trust No One ล่าราชาคริปโต’ ทาง Netflix คุณในฐานะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ คิดอย่างไรกับคำแนะนำของท่านนายกฯ
พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าท่านคิดอย่างไร และพี่ก็ไม่รู้ว่าท่านเตือนด้วยเจตนาเพราะว่าเป็นห่วง หรือเตือนเพราะว่ารังเกียจคริปโต แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ตัวคอนเทนต์ใน ‘Trust No One’ ไม่ได้มีอะไรใหม่ สำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จะรู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว และใครที่ถือบิตคอยน์ระยะยาว เขาย่อมต้องรู้อยู่แล้วว่าต้อง “Trust No One” (ห้ามเชื่อใครง่าย ๆ ) และจะมีอีกคำก็คือ “Not Your Key, Not Your Coin” คือถ้าคุณไม่มี Private Key เหรียญนั้นก็ไม่ใช่ของคุณ ทุกคนรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว
หรือแม้แต่การเชื่อมั่นในบุคคล ก็จะมีเรื่องของการ “Trust Verified” คุณจะเชื่อใครไม่ได้จนกว่าเขาจะยืนยันตัวตน Term พวกนี้มันเป็นเรื่องที่เราคุยกันอยู่แล้วในอุตสาหกรรม ข้อความอันนี้ท่านนายกอาจจะต้องการเดือนคนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมว่าอย่าเชื่อใคร ซึ่งมันก็เป็นการเตือนที่ดีนะ ถ้าอยู่ในบริบทนั้น แต่ถ้าเตือนในบริบทที่ว่า คริปโทเป็นเรื่องผิดบาป อันนี้ต้องมาคุยกันอีกยาวเลยว่า อะไรที่ถูกมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือบาป
สำหรับผม ยังไงเครื่องมือมันก็คือเครื่องมือน่ะ มันไม่มีชีวิตจิตใจ บาปบุญไม่ได้อยู่ที่บิตคอยน์ บาปหรือบุญมันอยู่ที่คนที่จะเอาไปใช้ ฉะนั้นผมว่าเรื่องนี้มันต้องคุยกันอีกยาว ผมว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่านายกเตือนเราหรอก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ พวกเราที่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้คิดอย่างไรกับสิ่งนี้มากกว่า คุณต้องตั้งเป้าหมายตอนเข้ามาให้ถูก ถ้าจะเข้ามาศึกษา คุณได้แน่ ๆ แต่ถ้าคุณเข้ามาเพราะหวังรวย คุณอาจจะไม่ได้ก็ได้นะ สุดท้ายคุณต้องเสียเงินให้คนอื่น เพราะว่าพอเป็นตลาดเสรี คนในตลาดเขาไม่ปราณีหรอก คุณต้องระวังสิ่งนี้ เพราะท่าในการเอาเงินออกจากกระเป๋าในตลาดนี้มันเยอะ
ในช่วง ‘Crypto BRIEF By Bitcast’ ที่คุณเข้ามาทำ รูปแบบเป็นอย่างไร นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ตอนที่ทีมงานชวนพี่มาทำช่วง Crypto BRIEF เนี่ย บอกเลยว่าตัดสินใจไม่ยากนะ เพราะว่ามันอยู่ในพื้นฐานของการให้ความรู้ การแชร์ประสบการณ์ และเล่าเรื่องข่าวคราวที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ ที่เราเองก็ศึกษาอยู่แล้วมาแชร์ให้ผู้ชมได้รับรู้รับทราบ ซึ่งทางทีมงานเองก็ต้องการในสิ่งที่เรามีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็เลยเป็นอะไรที่ง่ายมาก ๆ
รูปแบบของรายการปกติก็จะเป็นการเล่าข่าวเกี่ยวกับวงการคริปโท วงการบล็อกเชน และข้อมูลวิเคราะห์บางอย่างที่อยู่บนบล็อกเชนบางอย่าง ก็จะเอามาเล่าให้ผู้ชมฟังในทุก ๆ เช้าวันจันทร์และวันศุกร์ ตั้งแต่ 7:30 น. เป็นต้นไป ความยาวประมาณ 20 นาทีโดยประมาณครับ จะสั้นหรือยาวก็แล้วแต่สถานการณ์ในช่วงนั้นว่ามีอะไรน่าสนใจแค่ไหน
สำหรับวันจันทร์ จะเป็นการสรุปข่าวต่าง ๆ ในรอบสัปดาห์ว่า มีข่าวอะไรที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมที่คนจะต้องรู้บ้าง เป็นการเล่าข่าวเบา ๆ เหมือนเล่าให้เพื่อนฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ ส่วนวันศุกร์ก็จะเป็นข้อมูลเชิงลึกหน่อย แต่เป็นการลงลึกที่พยายามจะย่อยให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้พอเข้าใจได้ มีการให้ Buzzword บางอย่างที่ติดหู คนฟังจะได้รู้สึกว่าเข้าใจได้ง่าย ๆ
คำถามสุดท้าย คุณคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
จริง ๆ แล้วคนเรามักจะโฟกัสความคิดและความรู้สึกเป็นหลัก ส่วนตัวข่าวหรือข้อมูลเป็นตัวเสริมในการประกอบการตัดสินใจ แต่สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจใหญ่ ๆ ของเราก๋มักจะเกิดจากการตัดสินใจด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรามากกว่า เวลาที่เรามีข้อมูลไม่ครบ เวลาตัดสินใจ เราจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และมันจะทำให้ได้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่ไม่ได้ดีที่สุด
การที่เราได้รับรู้ข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก็จะทำให้เรามีข้อมูลในการตัดสินใจที่ดีกว่าการที่เราไม่มีข้อมูลเลย ในแง่ของการลงทุน ข้อมูลที่เราฟังมา เราควรจะใช้เป็นข้อมูลร่วมในการตัดสินใจ แต่สิ่งที่ต้องระวังเวลาฟังข่าวก็คือ มันจะมีข้อมูลบางอย่างที่เป็นเชิงประจักษ์ เห็นได้ทันที แต่บางอย่างที่พี่เล่า มันก็อาจจะมีความคิดเห็นปนลงไปด้วย คนฟังจะต้องแยกให้เป็น แยกให้ออกว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือข้อคิดเห็น ถ้าแยกไม่ออกแล้วเอาข้อคิดเห็นไปเป็นข้อเท็จจริง อาจจะทำให้เราตัดสินใจพลาดหรือเพี้ยนไปเลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส