จากกรณีพลเมืองดีถ่ายคลิปวิดีโอและเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ชายคนหนึ่งกำลังทำร้ายร่างกายผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะมีพลเมืองดีเข้าไปห้ามปราม จนสุดท้ายบานปลายและเกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดนั้น ล่าสุด ผู้หญิงภายในคลิปวิดีโอดังกล่าวเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เอาผิดผู้ชายในข้อหาทำร้ายร่างกาย รวมถึงพลเมืองดีที่เข้าไปห้ามปรามและถ่ายคลิปวิดีโอ เนื่องจากละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ในรายการ “โหนกระแส” ซึ่งดำเนินรายการโดย ‘กรรชัย กำเนิดพลอย’ ต่อกรณีนี้ว่าการที่พลเมืองดีถ่ายคลิปวิดีโอทำร้ายร่างกายและเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัวนั้น อาจมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA หากเจ้าทุกข์หรือบุคคลในคลิปวิดีโอไม่ต้องการให้คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่
ทั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์แนะนำว่า หากเจอการกระทำความผิด ทำร้ายร่างกาย สามารถถ่ายคลิปได้ เพราะมีประโยชน์ต่อสาธารณะ ควรนำส่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรวบรวมเป็นพยานหลักฐานเอาไว้เพื่อป้องกันชีวิตและร่างกาย ไม่ควรนำมาเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว
“ต้องเข้าใจหลักการก่อน ในตัวกฎหมายคุ้มครองตัวเจ้าของข้อมูล ปกติถ้าไม่มีเหตุทางกฎหมาย ถ่ายไม่ได้นะครับ แต่กรณีที่เป็นข่าวเป็นเรื่องทำร้ายร่างกายกัน ในกฎหมาย PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยกเว้นให้ครับ หมายความว่าคนถ่ายสามารถถ่ายได้ในฐานะพลเมืองดี แต่การถ่ายมีข้อยกเว้น คือ มีความจำเป็นรวบรวมพยานหลักฐานทางกฎหมาย เพื่อปกป้องชีวิตร่างกาย พอถ่ายได้เสร็จปุ๊บจะใช้เป็นพยานหลักฐาน ต้องส่งมอบให้ตำรวจ จะไปโพสต์เองไม่ได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้คุ้มครองตัวเขา โดยหลักคือเป็นพลเมืองดี เราเจอมีการกระทำความผิด ทำร้ายร่างกาย เราหยิบกล้องมาถ่ายได้ เพราะมีประโยชน์สาธารณะ เราต้องรวบรวมพยานหลักฐานเอาไว้เพื่อป้องกันชีวิต ร่างกาย การถ่าย ถ่ายได้ แต่พอไปเปิดเผยหรือแชร์ต่อในโซเชียล ตรงนี้ผิดครับ”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไพบูลย์ชี้แจงว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA นั้น เป็นคดีที่สามารถอนหรือยอมความได้ ไม่ใช่อาญาแผ่นดิน “ยอมความได้ ไม่มีปัญหา ส่วนมีข้อพิพาท ถ้าเป็นคลิปทำร้ายร่างกาย เราถ่ายได้ แต่พอดำเนินคดีอาญา มันไม่ได้ผิดอาญา เพราะไม่ได้เกี่ยวกับทางเพศ หรือข้อมูลอ่อนไหวก็ไม่ผิด ก็ไปฟ้องแพ่งหรือร้องคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล คณะกรรมการก็มีคำสั่งเรียกพิจารณาและสั่งให้ลบออก ถ้าไม่ลบก็มีโทษปรับ”
ที่มา : โหนกระแส (Hone-Krasae) Official