นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายพันคำ วิพาวัน กับทีมงานส่งเสริมธุรกิจและการลงทุนแวะเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต้องขอบอกว่า “ไม่ธรรมดา” สปป.ลาวไม่ได้เป็นประเทศที่ไม่ทางออกทะเลอีกต่อไปแล้ว จากพื้นที่ประเทศที่ถูกปิดล้อมที่เรียกว่า “แลนด์ล็อก” (Land Locked) ตอนนี้ได้กลายมาเป็น “แลนด์ลิงก์” (Land Linked) เพราะล่าสุดมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภาคใต้ของจีนกับกรุงเวียงจันทน์
ในอนาคตอันใกล้นี้ ลาวจะกลายเป็น “ซีลิงก์” (Sea Links) คือมีเส้นทางเชื่อมโยงกับท่าเรือต่าง ๆ ในภูมิภาครวมถึงท่าเรือมาบตาพุด ในจังหวัดระยอง สีหนุวิลล์ในกัมพูชา และไฮฟองที่เวียดนาม นี่คือจุดขายใหม่ของลาว ขณะนี้ลาวกำลังเสนอตัวเองเป็นศูนย์ของการส่งออกสินค้าที่หลั่งไหลมาจากพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์
รัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้การนำของประธานทองลุน สีสุลิด ได้ปฏิรูปโครงสร้างการลงทุนและมาตรการอื่น ๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ พร้อมมีข้อเสนอกับคู่เจรจาในต่างประเทศในการที่จะจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ (Logistics Centers) เพื่อรองรับสินค้าต่าง ๆ ทุกรูปแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านสปป.ลาวต้องการส่งออกไปจีนโดยใช้เส้นทางรถไฟใหม่เอี่ยมอ่องในลาว
ไม่น่าแปลกใจที่สายสัมพันธ์ของสองประเทศในขณะนี้ ได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ในความจริงแล้วไทยและลาวน่าจะกระชับความสัมพันธ์ในระดับนี้มานานแล้ว หลังโรคระบาดโควิด-19 ไทยและลาวยังต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการถ่ายเทสินค้าและผลไม้ผ่านด่านต่าง ๆ ทั้งในไทย ลาว และจีน
ในช่วงเยือนไทย เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสองประเทศยังได้เซ็นกรอบความร่วมมือ 5 ปี (2565 – 2569)
ที่สำคัญคือทั้ง 2 ประเทศต้องการเห็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว มาตรการเร่งรัดการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศต้องรีบทำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทยพร้อมออกทุนสร้างสะพานเชียงแสน-หลวงพระบางซึ่งจะเป็นสะพานที่ 7 เชื่อมไทย-ลาว
นอกเหนือจากนั้น ทางด้านความมั่นคงไทยและสปป.ลาว ยังตกลงเพิ่มความกวดขันด้านชายแดนเพื่อลดการค้ามนุษย์และการปราบยาเสพติด อีกประเด็นหนึ่งคือความร่วมมือกันปราบแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ (Call Center) ที่หลอกลวงประชาชน
สปป.ลาว ยังเป็นสมาชิกอาเซียนและองค์กรภูมิภาคต่าง ๆ ที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยไม่ว่าจะเป็นแอกเม็กส์ (ACMECS) ความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation) ความร่วมมือแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคงคา (Mekong-Ganga Cooperation) ในปลายปีนี้ สปป.ลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดแอกเม็กส์ครั้งที่ 10 เพื่อความยั่งยืนของลุ่มภูมิภาคแม่น้ำโขง
ในอนาคตความสัมพันธ์ไทยกับสปป.ลาว มีปัจจัยยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมเพราะไทยเป็นด่านแรกของเส้นทางรถไฟความเร็วสูง
สปป.ลาว มันจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเอเชียอาคเนย์ ในอนาคต เป็นแกนกลางที่จีนสามารถเพิ่มและขยายอิทธิพลการเศรษฐกิจการค้าได้อย่างสม่ำเสมอ อีกอย่างความใกล้ชิดจีนกับ สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากไทยและลาวมีชายแดนติดต่อกันยาวถึง 1,810 กม. ย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจชายแดนไทยและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนั้นด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส