ตลอดเดือนมิถุนายนนี้หลายคนคงได้ยินเกี่ยว Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ที่หลาย ๆ คนคุ้นหูคุ้นตากัน ซึ่งในยุคนี้คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก LGBT ประกอบไปด้วย ‘Lesbian’ ‘Gay’ ‘Bisexual’ และ ‘Transsexual / Transgender’ ซึ่งก็คือคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นเอง อักษรย่อนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุค 90s ในช่วงเริ่มต้นมีตัวอักษรเพียง 3 ตัวคือ LGB แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สังคม วัฒนธรรม ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยนตาม จนถึงวันที่ ‘ความแตกต่าง’ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ‘ความเท่าเทียม’ ถูกให้ความสำคัญ ‘ตัวตน’ ของผู้คนที่เคยถูกตีกรอบไว้ก็เข้มแข็งมากพอที่เดินออกสู่แสงสว่าง

อักษรเพียง 3 ตัวไม่อาจครอบคลุมความหลากหลายทางเพศได้อีกต่อไป นักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในยุคนั้นจึงเพิ่มตัว T เข้าไปเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่ม Transgender / Transsexual หรือ คนข้ามเพศ แต่ความลื่นไหลทางเพศเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในยุคหลัง ๆ ก็พบว่ามีการเพิ่มตัวอักษรอื่น ๆ เข้าไปอีกหลายตัว เช่น LGBTQ, LGBTI, LGBTQIA ฯลฯ หรือแม้แต่การเติมเครื่องหมาย + ต่อท้ายเพื่อแสดงถึงความไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจตัวตนของคนในสังคม งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าตัวอักษรแต่ละตัว เป็นตัวแทนของใครบ้าง

  • L = Lesbian เลสเบี้ยน ใช้แทนความเป็น ‘หญิงรักหญิง’
  • G = Gay เกย์ แทนสถานภาพของ ‘ชายรักชาย’
  • B = Bisexual ไบเซ็กชวล หรือที่คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ไบ’ หมายถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • T = Transgender / Transsexual คนที่เป็น ‘ทรานส์เจนเดอร์’ คือคนที่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องเพศและบทบาททางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมของตัวเอง เช่น บางคนเกิดมาเป็นเพศชายในสังคมที่กำหนดว่าเพศชายต้องเป็นแบบนี้ ๆ แต่ความรู้สึกข้างในกลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าตัวเขาเองตรงกับสิ่งที่สังคมกำหนดว่าเป็นเพศหญิงเสียมากกว่า

ถ้าความรู้สึกนี้ของทรานส์เจนเดอร์แรงกล้าจนรู้สึกว่าไม่ต้องการเป็นเพศโดยกำเนิดและมีความต้องการเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองเป็นเพศอย่างที่ใจต้องการโดยการแปลงเพศ ก็จะเป็นว่า ‘ทรานส์เซ็กชวล’

  • Q = Queer เควียร์ เป็นคำที่เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง แต่มีความน่าสนใจตรงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำด่าคนรักเพศเดียวกัน แถมหยาบคายด้วย ด่าไปด่ามาคนรักเพศเดียวกันก็เลยนำคำนี้มาใช้เรียกแทนตัวเองเลยแล้วกัน

ทำนองว่าเป็นการยึดคืนเพื่อไม่ให้มันสร้างความเจ็บปวดได้อีก แนวคิดหลักของคนที่เรียกตัวเองว่า ‘เควียร์’ ก็คือ คนที่เชื่อว่าเพศวิถีของทุกคนมีความลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้

  • I = Intersex หรือภาษาไทยคือ ‘เพศกำกวม’ เป็นการเรียกตามลักษณะทางกายภาพของคนที่มีอวัยวะเพศทั้งหญิงและชายรวมกันตั้งแต่แรกเกิด ในบางลักษณะของ Intersex อวัยวะเพศจะพัฒนาชัดเจนคงที่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความหลากหลายทางเพศ
  • A = Asexual เอเซ็กชวล คำนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยและอาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะในโลกนี้มีคนที่เป็น Asexual อยู่ราว 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ ‘ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ’ ขาดความสนใจทางเพศ ไม่ให้ความสนใจต่อกิจกรรมทางเพศ
  • A ที่ 2 มาจาก อะโรแมนติก (Aromantic) หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดความโรแมนติกกับผู้อื่น
  • A ตัวที่ 3 มาจาก อะเจนเดอร์ (Agender) คือ กลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าตนเองเป็นเพศใด ๆ

คนกลุ่มนี้ก็คือคนปกติทั่วไป สามารถมีความรักได้แต่ไม่มีความใคร่ อาจถูกกระตุ้นทางกายให้อวัยวะเพศตอบสนองต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้แต่ในระดับจิตใจจะไม่มีความรู้สึกในเรื่องนี้

มีนักวิจัยยืนยันว่าเอเซ็กชวลคือ ‘รสนิยมทางเพศ’ รูปแบบหนึ่ง นั่นหมายความว่ามันแตกต่างจากการถือพรหมจรรย์และไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องทางเพศ แต่ก็มีนักวิจัยที่ยังไม่เห็นด้วย ซึ่งการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งเริ่มพัฒนาจึงยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจน

  • P = Pansexual / Polysexual ‘แพนเซ็กชวล’ กับ ‘โพลีเซ็กชวล’ คือกลุ่มคนที่มีความรัก ความปรารถนาทางเพศ หรือแรงดึงดูดทางอารมณ์ต่อผู้อื่นโดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นจะเป็นเพศไหน

ทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยแพนเซ็กชวลจะมีความเปิดกว้างกว่า สามารถเกิดแรงดึงดูดทางอารมณ์กับใครก็ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศวิถีและเพศตามกำเนิด ส่วนโพลีเซ็กชวลจะมีกลุ่มที่ชอบมากกว่าชอบน้อยกว่าอยู่ในใจ ซึ่งทั้งสองกลุ่มก็แตกต่างจากไบเซ็กชวลที่มีความสนใจเฉพาะผู้ชายและผู้หญิง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคำที่ใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งแต่ละคำก็จะมีการอธิบายลักษณะที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไป

เรียกได้ว่าหลากหลายจนไม่อาจอธิบายให้ครบได้ จึงเป็นที่มาของการเติมเครื่องหมาย + ต่อท้ายอักษรย่อเหล่านี้ไว้ เป็นการเปิดรับความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา

รวมทั้งยังมีการมองเรื่องเพศแบบ ‘Non-Binary’ หรือ ‘นอน-ไบนารี’ เป็นสำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชายและหญิงและไม่มีการระบุเพศตามบรรทัดฐานทางสังคม ถ้ามองเรื่องเพศแบบนี้ก็จะไม่มีการใช้คำต่าง ๆ ที่อธิบายมาในการจำแนกตัวเองหรือคนอื่น ๆ ว่าคนนี้เป็นเกย์ คนนั้นเป็นผู้หญิง คนโน้นเป็นไบ ฯลฯ

และท้ายที่สุดแล้วใครเป็นใครหรือจะเรียกอย่างไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับการที่เรายอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกันและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส