สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการเจรจราการสั่งปุ๋ยจากรัสเซียอย่างเงียบ ๆ หลังต้นทุนอาหารโลกพุ่งสูงขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับต้น ๆ ของโลก
หลังจากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ต่างเดินหน้าออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการแบนปุ๋ยที่ผลิตจากรัสเซีย แต่ถัดมาเพียง 1 เดือนเท่านั้น (มีนาคม 2565) สหรัฐฯ ก็ประกาศยกเลิกการแบนปุ๋ยที่ผลิตจากรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่ามาตรการคว่ำบาตรนี้จะทำให้โลกเข้าสู่วิกฤตอาหารขาดแคลน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะประกาศยกเลิกการแบนปุ๋ยรัสเซียไปแล้ว แต่บริษัทเอกชน ผู้ขนส่ง และธนาคารต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับรัสเซีย เนื่องจากความกังวลว่าพวกเขา (บริษัทเอกชน) อาจละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือกฎเกณฑ์บางข้ออย่างไม่ได้ตั้งใจ และจะนำมาสู่ปัญหาที่ยุ่งยากในภายหลัง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ยอดการส่งออกปุ๋ยของรัสเซียลดลงถึง 24% ในปีนี้
เมื่อเห็นท่าทีที่น่าตกใจของบริษัทเหล่านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าปุ๋ยให้มากขึ้น เพื่อให้รักษาความมั่นคงทางอาหาร จึงได้มีการส่งผู้แทนไปยัง UN เพื่อเจรจาอย่างลับ ๆ กับทำเนียบเครมลินเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีการยืนยันเรื่องการเจรจาลับดังกล่าว ในขณะที่ทำเนียบเครมลินเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยืนยันกับบริษัทผู้ส่งออกของรัสเซียว่าจะไม่มีการคว่ำบาตรปุ๋ยและธัญพืชของรัสเซียอีกเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของโลก
ด้านนายอิวาน ทิโมฟีฟ (Ivan Timofeev) ผู้เชี่ยวชาญของสภากิจการระหว่างประเทศรัสเซีย ซึ่งก่อตั้งโดยทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า “สำหรับรัสเซียแล้วนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่สหรัฐฯ ต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าข้อตกลงเหล่านี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก แล้วเรา (รัสเซีย) ถึงจะไม่ปฏิเสธที่จะทำการค้าร่วมกันต่อไป”
ที่มา : Bloomberg