ปัญหาอาหารขาดแคลนเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว และการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนนี้เราจึงเริ่มเห็นนโยบายการกักตุนอาหารของประเทศต่าง ๆ แล้ว เนื่องจากความกังวลถึงวิกฤตอาหารที่อาจจะกำลังมาภายในปลายปีนี้

ทำไมอาหารถึงขาดแคลน

จุดเริ่มต้นของปัญหาอาหารขาดแคลน คือปัญหาด้านแรงงานและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมีสถานการณ์โรคระบาดเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ภาคการผลิตหยุดชะงักลง ทั้งแรงงานที่เจ็บป่วย ต้องกักตัว มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างการล็อกดาวน์ จนท้ายที่สุด นำไปสู่การปิดโรงงาน แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน นอกจากนี้ สถานการณ์โรคระบาดยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หันมาทำอาหารกินเองมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากออกจากบ้าน ทำให้ความต้องการของอาหารในครัวเรือนสูงขึ้นมาก

เมื่อผู้บริโภคต้องการอาหารมากขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิต ผลิตอาหารได้น้อยลง สัญญาณอาหารขาดแคลนจึงเริ่มปรากฏขึ้น และยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้น เนื่องจากหลายประเทศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก การคว่ำบาตรนี้จึงทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และนั่นหมายถึงราคาของอาหารที่จะยิ่งแพงขึ้นไปด้วย

ราวกับว่าเรื่องนี้ยังเลวร้ายไม่พอ สัญญาณต่าง ๆ รวมถึงภาวะสงครามที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร ส่งผลให้หลายประเทศคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารในประเทศของตัวเอง ‘การกักตุนอาหารระดับนานาชาติ’ จึงเริ่มต้นขึ้น โดย ณ ขณะนี้ เริ่มเห็นแล้วว่าหลายประเทศงดส่งออกอาหารและวัตถุดิบบางประเภท เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ แต่นั่นย่อมหมายถึง ‘ปัญหาใหญ่’ ของบางประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารหรือวัตถุดิบเองได้

วิกฤตอาหารโลก ยิ่งแก้ (ผิด ๆ) ยิ่งพัง

ประเทศรัสเซียและยูเครน คือผู้นำด้านการส่งออกข้าวสาลีของโลกอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเมื่อนับเฉพาะการส่งออกของสองประเทศนี้ ก็คิดเป็น 35% ของมูลค่าข้าวสาลีทั้งหมดในตลาดเลยทีเดียว ดังนั้น สงครามปะทุขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวสาลีและธัญพืชต่าง ๆ ในโลกลดลง ทั้งจากปัญหาด้านการผลิตที่ต้องหยุดชะงักลง รวมถึงนโยบายห้ามส่งออก เพื่อกักตุนไว้ในประเทศของตัวเอง

นอกจากข้าวสาลีและธัญพืชแล้ว รัสเซียยังออกนโยบายห้ามการส่งออกปุ๋ย ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญสำหรับภาคการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศที่พึ่งพาปุ๋ยจากรัสเซีย ผลิตอาหารได้น้อยลงไปอีก จากเดิมที่มีปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน และต้นทุนการขนส่งที่มากพออยู่แล้ว

สำหรับยูเครน ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ตะกร้าขนมปัง’ ให้กับทวีปแอฟริกาและแถบตะวันออกกลาง ก็ไม่สามารถส่งออกธัญพืช ปุ๋ย และน้ำมันพืชได้ รวมถึงไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาลเนื่องจากภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถใช้ฉายาเดิมได้อีกต่อไป

เมื่อรัสเซียและยูเครนประกาศงดการส่งออกอาหาร หลายประเทศก็เริ่มทำตาม เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารของประเทศตัวเอง โดยอาหาร 5 ประเภท ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ในภาวะสงครามครั้งนี้คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันถั่วเหลือง ส่วนอาหารและวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบรองลงมาคือ มะเขือเทศ ผัก เนื้อวัว และเนื้อไก่

ประเทศไหนบ้างที่งดส่งออกอาหาร

ประเทศอาหาร / วัตถุดิบ
คาซัคสถานข้าวสาลี, แป้งข้าวสาลี
อียิปต์น้ำมันพืช, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, ถั่ว, เส้นพาสต้า
อินเดียข้าวสาลี
อาร์เจนตินาน้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง
อิหร่านมันฝรั่ง, มะเขือยาว, มะเขือเทศ, หัวหอม
คูเวตไก่สด, ธัญพืช, น้ำมันพืช
ตุรเคียเนื้อวัว, เนื้อแพะ, เนื้อแกะ, เนย, น้ำมันทำอาหาร
มาเลเซียไก่สด

จะเห็นได้ว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามส่งออกจะเป็นประเภทธัญพืชและน้ำมันพืช ซึ่งการขาดแคลนธัญพืชเหล่านี้ จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก เพราะนอกจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว 80% ของธัญพืชทั้งหมดยังถูกใช้เป็นอาหารของสัตว์ในฟาร์ม ฉะนั้น การขาดแคลนธัญพืช อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเนื้อสัตว์ตามมาในอนาคตนั่นเอง

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา

นอกจากผลกระทบในภาพใหญ่แล้ว ประเทศใกล้ตัวเราก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน จากรายการข้างต้นจะเห็นได้ว่ามาเลเซียได้มีนโยบายห้ามส่งออกเนื้อไก่สด ซึ่งก่อให้เปิดปัญหาเนื้อไก่ขาดแคลนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าเนื้อไก่ส่วนมากจากมาเลเซีย ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจำนวนมากในการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ทำให้นโยบายห้ามส่งออกของประเทศต่าง ๆ อาจส่งผลเสียรุนแรงในระยะยาวกับสิงคโปร์

ในตอนนี้ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบเพียง ‘หางของพายุ’ เท่านั้น ในเรื่องของราคาพลังงานและต้นทุนการขนส่ง แต่เมื่อเราลองพิจารณาแล้ว วิกฤตอาหารขาดแคลนโลกนั้น มีปัญหามาซ้อนต่อ ๆ กันจนเริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้าง การแก้ปัญหาด้วยการกักตุนอาหารของแต่ละประเทศ ก็ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตนี้ให้เลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางเดียวที่จะรอดจากวิกฤตนี้ได้คงหนีไม่พ้นการเพิ่มปริมาณการผลิต แต่จะทำอย่างไร? หากโรคระบาดยังไม่หายไปไหน

‘เทคโนโลยี’ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบในการช่วยมนุษยชาติครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทางเลือกอย่างเนื้อจากพืช หรือการสังเคราะห์อาหารใหม่ ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น มีราคาสูงและผลิตได้น้อย จึงอาจไม่ทันต่อความต้องการของมนุษยชาติอยู่ดี ‘การยุติสงคราม’ จึงอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของปัญหาอาหารโลกขาดแคลนครับ

ที่มา: Taste Of Home, IFPRI, IFPRI, CNBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส