ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินต่อไป สหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตร โดยเฉพาะสหภาพยุโรปร่วมมือกันกดดันรัสเซีย ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยหวังให้รัสเซียหยุดการทำสงคราม
ความยืดเยื้อของสงครามในครั้งนี้ สร้างความวิตกกังวลไม่น้อยในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน อาหาร และวิกฤติพลังงานที่กำลังส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ว่ารัสเซียต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจมากมายจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันจากตลาดทุน การอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียในต่างประเทศ การถอดถอนสถาบันการเงินของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT และการห้ามนำเข้าถ่านหินและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ จนทำให้รัสเซียต้องเจอกับปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
แต่ในขณะเดียวกัน รัสเซียยังคงสามารถประคับประคองเศรษฐกิจของตัวเองได้ และก็เริ่มเป็นฝ่ายกดดันยุโรปกลับบ้างแล้ว เช่น การบังคับให้ยุโรปซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักให้ยุโรปด้วยสกุลเงินรูเบิล และปัญหาล่าสุดที่ยุโรปกำลังเจอคือการลดการส่งออกแก๊สธรรมชาติของรัสเซีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ยุโรปจำเป็นต้องใช้ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังใกล้เข้ามา และดูเหมือนว่าแก๊สธรรมชาติที่ยุโรปกักตุนไว้มีความเสี่ยงที่จะไม่พอใช้ในฤดูหนาวนี้
ฤดูหนาวที่กำลังใกล้เข้ามา
ช่วงฤดูหนาวในยุโรปจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปจำเป็นต้องใช้แก๊สธรรมชาติในปริมาณมาก ไม่ว่าจะในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานด้านความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงนี้เลยก็เป็นได้ โดยปกติแล้วก่อนเข้าฤดูหนาว ทางยุโรปจะมีการกักตุนแก๊สเอาไว้เพื่อใช้งาน โดยปริมาณที่ปลอดภัยคือการกักตุนให้ได้ 80% ภายในเดือนตุลาคม และ 90% ภายในเดือนพฤศจิกายน แต่ในขณะนี้ปริมาณการกักตุนแก๊สธรรมชาติของยุโรปอยู่ที่ราว 55% เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลกับปริมาณที่ต้องการเพื่อให้ผ่านฤดูหนาวไปได้ ซึ่งถ้าพลังงานไม่เพียงพอ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากความหนาวในช่วงปลายปีนี้
รัสเซียลดการส่งออกแก๊สธรรมชาติ
รัสเซียเป็นผู้ส่งออกแก๊สธรรมชาติหลักให้กับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะบางประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานส่วนมากจากรัสเซียโดยตรง โดยสหภาพยุโรปนั้น พึ่งพาแก๊สจากรัสเซียถึง 40% ส่วนเยอรมนีนั้นพึ่งพามากถึง 55% ซึ่งภาวะสงครามที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ทำให้ตลาดพลังงานทั่วโลกตึงเครียดพออยู่แล้ว การบีบบังคับให้ประเทศในยุโรปซื้อน้ำมันจากรัสเซียด้วยสกุลเงินรูเบิล ซึ่งมีหลายประเทศยอมที่จะไม่ทำ และการลดการส่งออกแก๊สจากรัสเซียก็ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับประเทศในสหภาพยุโรปขึ้นเป็นเท่าตัว
ปริมาณแก๊สที่ส่งออกจากรัสเซียอยู่ในระดับที่ลดลงอย่างมาก เช่น ท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 ใต้ทะเลบอลติก ซึ่งเป็นท่อส่งสำคัญในการส่งแก๊สไปเยอรมนี กำลังส่งแก๊สด้วยปริมาณเพียง 40% ของกำลังทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าแก๊สที่เยอรมนีได้รับนั้นน้อยลงกว่าครึ่งที่สามารถส่งได้ โดยทางรัสเซียอ้างว่าการคว่ำบาตรของนานาชาตินั้นขัดขวางไม่ให้รัสเซียเข้าไปซ่อมแซมท่อ ทำให้ส่งได้ไม่เต็มที่ แต่ยุโรปมองว่าเป็นข้ออ้างในการลดการส่งออก ซึ่งทางเยอรมนีมองว่านี่นับเป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจที่รุนแรง และเป็นแผนของประธานาธิบดีปูตินที่จะสร้างความหวาดกลัว
ยุโรปเล็งกลับมาใช้พลังงานถ่านหิน
ถึงแม้ยุโรปจะเคยบอกว่าพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก และตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินทั้งหมด แต่ด้วยวิกฤติที่กำลังเผชิญ ทำให้ยุโรปต้องพิจารณาเปิดโรงงานถ่านหินกลับมาใช้ และลงทุนในการสร้างไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหินเพิ่ม เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่กำลังใกล้เข้ามา รวมถึงมองหาความช่วยเหลือจากนานาชาติในการส่งพลังงานมาสนับสนุน เรื่องนี้ส่งผลให้ราคาถ่านหินพุ่งสูงอีกครั้ง รวมถึงหุ้นของบริษัทที่มีกิจการเกี่ยวกับถ่านหินก็เติบโตตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยุโรปก็กำลังมองหาอุปทานเพิ่มเติมจากประเทศอื่น ๆ อย่างนอร์เวย์และสหรัฐอเมริกา
สงครามจิตวิทยา
นอกจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนแล้ว สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยุโรปก็ดูเหมือนจะเป็นสงครามจิตวิทยารูปแบบหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากรัสเซียเองก็ไม่ได้ถือว่าอยู่ในสภาวะที่ดีนัก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะการโดนคว่ำบาตรจากหลายประเทศ แต่ด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้รัสเซียยังพอยืดหยัดด้วยตนเองได้ และตอบโต้กลับด้วยการกดดันนานาชาติที่ไม่สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อยุโรปค่อนข้างหนัก ในเรื่องความกดดันด้านพลังงานและฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา เรียกได้ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าใครจะทนอยู่ได้นานกว่ากันเท่านั้น โดยฤดูหนาวครั้งอาจเป็นตัวตัดสินก็เป็นได้