การเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในองค์กรขนาดเล็ก องค์กรขนาดใหญ่ ระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ สิ่งที่ตามมาในฐานะผู้นำก็คืออำนาจ บารมี และแน่นอนผลประโยชน์ การบังคับใช้อำนาจในมือนี้ ก็มีทั้งผู้พึงพอใจและผู้ที่ไม่เห็นชอบเพราะอาจจะเป็นผู้ที่เสียผลประโยชน์หรือรายได้ และเมื่อการเจรจาต่อรองไม่เป็นผล บ่อยครั้งที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็เลือกที่จะใช้วิธีขั้นเด็ดขาด นั่นคือการลอบสังหารบุคคลผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นเสีย จึงเป็นเรื่องปกติที่บุคคลระดับผู้นำจึงต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยล้อมหน้าล้อมหลังเวลาไปไหนมาไหน โดยสารด้วยพาหนะกันกระสุน แต่แม้ว่าบุคคลสำคัญเหล่านี้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนปลอดภัย เพราะมีทั้งเจ้าหน้าที่คอยอารักขาและพาหนะเพื่อความปลอดภัยต่อสวัสดิภาพที่พัฒนาขึ้นตามวันและเวลา แต่กระนั้นเราก็ยังคงได้ยินข่าวที่บุคคลระดับผู้นำ ยังคงโดนมือปืนลอบสังหารอยู่เนือง ๆ พลาดบ้าง สำเร็จบ้าง และนี่คือ 14 เหตุการณ์ที่มือสังหารปฏิบัติการได้สำเร็จ มีใครบ้างมาดูกัน
1.จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F Kennedy)
ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำระดับโลก เหตุการณ์ที่เป็นที่รับรู้กันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ก็เห็นจะเป็นการลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี นี่แหละ เคนเนดี้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ ถูกลอบยิงระหว่างที่อยู่บนรถในขบวนพาเหรดทักทายประชาชน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ที่เมืองดัลลัส เท็กซัส ลี ออสวอลด์ ใช้ปืนไรเฟิลยิงกระสุน 3 นัด จากอาคารเก็บหนังสือ กระสุนเข้าร่างเคนเนดี 2 นัด นัดแรกเข้าที่ด้านหลัง กระสุนพุ่งออกจากลำคอ และอีกนัดหนึ่งเข้าที่ศีรษะ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) ผู้ลงมือลั่นไกถูกจับได้ แต่เขาก็อ้างว่าเขาถูกใส่ร้าย
2.ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald)
คนที่ 2 นี่ก็คือ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ มือสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี ที่กลายเป็นเหยื่อลอบสังหารเสียเอง หลังออสวอลด์ถูกจับกุมตัวได้ เขาอ้างว่าเขาเป็นแพะรับบาปในแผนสมคบคิดสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ออสวอลด์ถูกนำตัวผ่านชั้นล่างของกองบัญชาการตำรวจดัลลาสในการเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังเรือนจำของเคาน์ตี เมื่อ เวลา 11.21 น แจ็ก รูบี (Jack Ruby) ก้าวออกมาจากฝูงชนและยิงใส่ออสวอลด์ที่ท้อง ออสวอลด์เสียชีวิตเมื่อเวลา 13.07 น. ที่โรงพยาบาลอนุสรณ์พาร์คแลนด์ โรงพยาบาลเดียวกับที่เคนเนดีเสียชีวิตเมื่อสองวันก่อน รูบีให้การว่า ที่เขาลงมือสังหารออสวอล์ดนั้น เป็นเพราะความโกรธแค้นที่ออสวอลด์สังหารเคนเนดี และเป็นการช่วยเหลือนางเคนเนดีผู้เป็นภรรยา ให้ไม่ต้องทุกข์ใจกับการต้องมาขึ้นให้การ แต่ผู้คนเชื่อว่าคำให้การของรูบีเป็นเท็จ และเชื่อว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการสมคบคิด เพื่อปิดปากออสวอลด์ไม่ให้เผยข้อเท็จจริง ทำให้คดีของเคนเนดียังคงเป็นความลับมืดมนมาจนทุกวันนี้
3.มหาตมา คานธี (MK Gandhi)
เขาเป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู ช่างเป็นเรื่องน่าย้อนแย้งยิ่งนัก กับบุรุษที่รณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงมาทั้งชีวิตกลับต้องเจอจุดจบในชีวิตจากการลอบสังหาร วันที่ 29 มกราคม 1948 คานธีเอ่ยกับ มานู เหลนของเขาว่า
“สมมติมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น หรือมีใครมายิงฉันเข้าที่หน้าอก ขณะที่ฉันกำลังเอ่ยคำว่า ‘เห ราม’ นั่นแปลว่าฉันได้เป็นมหาตมาที่แท้จริงแล้ว”
และที่น่าประหลาดใจก็คือ หลังจากนั้นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ในตอนเย็นของวันที่ 30 มกราคม 1948 ขณะที่คานธีอยู่กลางสนามหญ้า กำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร ขณะที่คานธีกำลังพูดว่า “เห ราม” แปลว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า” นาถูราม โคทเส (Nathuram Godse) ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิม ได้ยิงปืนใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลง และเมื่อแพทย์ได้มาพบคานธี ก็พบว่า คานธีได้สิ้นลมหายใจแล้วในวัย 78 ปี
4.อินทิรา คานธี (Indira Gandhi)
อินทิรา ปริยทรรศินี คานธี เป็นอดีตประธานมนตรีอินเดียที่ดำรงตำแหน่งถึง 3 วาระติดต่อกัน และเป็นประธานมนตรีหญิงคนแรกในประเทศอินเดีย เธอเป็นสมาชิกคนหนึ่งในตระกูล เนห์รู–คานธีเป็นครอบครัวการเมืองของอินเดียที่มีตำแหน่งโดดเด่นในการเมืองของอินเดียแม้จะมีนามสกุลเดียวกับมหาตมา คานธี แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน อินทิรา
คานธีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2527 หลังจากถูกองครักษ์ชาวซิกข์สองคนใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงกว่า 30 นัด ที่บริเวณสวนในทำเนียบประธานมนตรี และถึงแก่อสัญกรรมระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล สาเหตุเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวซิกข์หลังปฏิบัติการดาวน้ำเงิน (Operation Blue Star)
ปฏิบัติการดาวน้ำเงิน (Operation Blue Star) เป็นรหัสชื่อของการปฏิบัติการทางทหารที่กองทัพอินเดียเริ่มในระหว่างวันที่ 1 และ 8 มิถุนายน 1984 เพื่อกำจัดหัวหน้ากองกำลังซิกข์ติดอาวุธ และสมุนออกจากหมู่อาคารของหริมันทิรสาหิบ (วิหารทอง) ปฎิบัตการครั้งนี้ส่งผลให้ผู้แสวงบุญจำนวนมากต้องเสียชีวิตและสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อวิหารทอง อันเป็นอันเป็นที่เคารพของศาสนิกชนทั่วโลก และการลอบสังหารนางอินทิราก็เป็นการแก้แค้นที่นางเป็นผู้ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการดาวน้ำเงิน
5.ราชีพ คานธี (Rajiv Gandhi)
อีกหนึ่งคนในตระกูลคานธี ราชีพ คานธี เป็นบุตรชายคนโตของนางอินทิรา คานธี กับนายผิโรช คานธี จบการศึกษาจากทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วประกอบอาชีพเป็นนักบินพาณิชย์ของสายการบินแอร์อินเดีย เริ่มเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ภายหลังการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกของนายสัญชัย คานธี น้องชาย ที่เป็นทายาททางการเมืองของมารดา
หลังจากนางอินทิรา คานธี ถึงแก่อสัญกรรม ราชีพได้รับการเสนอชื่อจากพรรคคองเกรสของอินเดีย ที่เป็นพรรคเสียงข้างมากให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ และได้นำพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น ราชีพ คานธี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ใกล้เมืองเจนไน โดยมือระเบิดพลีชีพที่เป็นสตรีชาวศรีลังกา เธอทำหน้าที่เป็นผู้กดปุ่มระเบิดพลีชีพ เข้าหานายราชีพในสถานะผู้ศรัทธาในตัวราชีพ และหมอบราบเข้ามาสัมผัสเท้านายราชีพจากนั้นเธอก็กดปุ่มจุดชนวนระเบิดที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เสื้อผ้าของเธอ แรงระเบิดสังหารนายราชีพพร้อมผู้ติดตามอีก 14 คนในทันที
ภายหลังสืบทราบว่า สตรีผู้ก่อเหตุเป็นสมาชิกของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ที่ไม่พอใจนโยบายของคานธี ที่ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของอินเดีย เข้าไกล่เกลี่ยสงครามกลางเมืองในศรีลังกา ราชีพ คานธี จัดเป็นผู้นำทางการเมืองคนแรกของอินเดียที่เสียชีวิตด้วยเหตุระเบิด
6.ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน (Archduke Franz Ferdinand)
ฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ คาร์ล ลูทวิช โยเซฟ มารีอา แห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ ทรงเป็นอาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ และยังทรงเป็นพระราชกุมารแห่งฮังการีและโบฮีเมีย และเป็นรัชทายาทลำดับหนึ่งแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอีกด้วย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 11:15 น. อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์และดัชเชสโซฟี พระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว นครหลวงของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทั้งสองพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดย กัฟรีโล ปรินซีป (Gavrilo Princip) มือปืนวัยเพียง 19 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบล็คแฮนด์
โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสองพระองค์ทรงเกือบถูกโจมตีโดยระเบิดที่หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบล็คแฮนด์ได้ขว้างมา แต่โชคดีที่ระเบิดพลาดไป แต่พลเมืองก็ได้รับบาดเจ็บ ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จเยี่ยมพลเมืองที่ได้บบาดเจ็บในครั้งนี้ แต่ในขณะที่ทั้งสองพระองค์กำลังเสด็จไปเยี่ยมผู้ปะสบภัยที่โรงพยาบาลนั้น นายปรินซีปได้เห็นทั้งสองพระองค์ จึงวิ่งพรวดเข้าไปหาราชรถแล้วยิงไปที่ดัชเชสโซฟีโดยทันที จากนั้นก็ยิงอาร์ชดยุกอีกหลายนัด ท่ามกลางทหารและประชาชนทั้งหมื่นคนที่มารอเฝ้ารับเสด็จ การลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงไปถึงลัทธิชาตินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม ทหารและระบบสหพันธ์ ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเริ่มขึ้นหลังจากการลอบปลงพระชนม์เพียง 2 เดือนโดยออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย
7.อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)
อับราฮัม ลินคอล์น เป็นทนายความและรัฐบุรุษชาวอเมริกา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 แห่งสหรัฐอเมริกา ลินคอล์นประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ลินคอล์นจึงสามารถรักษาความเป็นสหภาพของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ได้ นอกจากนี้เขายังนำทางไปสู่การเลิกทาส พียงห้าวันหลังการยอมจำนนของโรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐ
วันที่ 14 เมษายน 1985 ลินคอล์นไปดูละครเวทีที่ฟอร์ดเธียเตอร์ ในวอชิงตัน ดีซี เขานั่งชมละครโดยไร้เจ้าหน้าที่คุ้มกัน จึงสบโอกาสให้ จอห์น วิลค์ส บูธ ((John Wilkes Booth) ย่องเข้ามาด้านหลังลินคอล์น แล้วยิงเขาเข้าที่ศีรษะในระยะเผาขน บูธเป็นสมาชิกจากครอบครัวนักแสดงละครเวทีที่โด่งดังจากรัฐแมริแลนด์ และในทศวรรษที่ 1860 นั้นเอง เขาก็กลายเป็นนักแสดงที่โด่งดังเช่นกัน บูธมีความคิดเห็นโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายสมาพันธ์และประณามการบริหารของลินคอล์นอย่างรุนแรง และคับแค้นเป็นอย่างมากเมื่อฝ่ายใต้แพ้สงครามกลางเมืองอเมริกัน เขาต่อต้านแนวคิดที่จะล้มล้างระบบทาสในสหรัฐฯ และข้อเสนอของลินคอล์นที่จะขยายสิทธิ์เลือกตั้งไปยังทาสที่เป็นไทแล้ว
8.ยิตส์ฮัก ราบิน (Yitzhak Rabin)
ยิตส์ฮัก ราบิน เป็นนักการเมือง รัฐบุรุษ และนายพลเอกชาวอิสราเอล ราบินเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศอิสราเอล โดยดำรงตำแหน่ง 2 วาระ คือเมื่อ ค.ศ. 1974-1977 และ ค.ศ. 1992 จนกระทั่งถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1995 เขาได้รับตำแหน่งบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ในปีค.ศ. 1993 และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับชิมอน เปเรสและยัสเซอร์ อาราฟัตในปี ค.ศ. 1994
ตอนเย็นวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ราบินโดนลอบสังหารโดย ยิเกล แอไมร์ (Yigal Amir) นักศึกษาที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านข้อตกลงสันติภาพออสโล ราบินได้เข้าร่วมขบวนพาเหรด ที่จัตุรัส Kings of Israel ในกรุงเทลอาวิฟ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่รณรงค์เพื่อการสนับสนุนสันติภาพออสโล เมื่อขบวนพาเหรดสิ้นสุดลง ราบินก็เดินลงบันไดศาลาว่าการเพื่อไปขึ้นรถประจำตำแหน่ง ขณะนั้นเองที่แอไมร์ตรงเขามาสาดกระสุนเข้าใส่ราบิน 3 นัด 2 นัดเข้าร่างราบิน อีก 1 นัดโดนเข้าที่บอดีการ์ด ราบินถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงทันที แต่เขาก็เสียชีวิตบนเตียงผ่าตัด เหตุจากการเสียเลือดจำนวนมาก และปอดโดนยิงจนทะลุ 2 แผล ส่วนแอไมร์โดนเจ้าหน้าที่รวบตัวได้ทันที ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต
9.จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)
กาอิอุส ยูลิอุส ไกซาร์ หรือ จูเลียส ซีซาร์ เป็นรัฐบุรุษ แม่ทัพ และผู้ประพันธ์ร้อยแก้วอันเลื่องชื่อชาวโรมัน เขามีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์อันนำไปสู่การสิ้นสุดสาธารณรัฐโรมันและความเจริญของจักรวรรดิโรมัน ใน 60 ปีก่อนคริสตศักราช ซีซาร์, กรัสซุส และปอมปีย์ ตั้งพันธมิตรทางการเมืองซึ่งครอบงำการเมืองโรมันไปอีกหลายปี ความพยายามของพวกเขาในการสั่งสมอำนาจผ่านยุทธวิธีประชานิยมถูกชนชั้นปกครองอนุรักษนิยมในวุฒิสภาโรมันคัดค้าน ชัยชนะของซีซาร์ในสงครามกอล ขยายดินแดนของโรมันไปถึงช่องแคบอังกฤษและแม่น้ำไรน์
หลังเข้าควบคุมรัฐบาล ซีซาร์เริ่มโครงการปฏิรูปสังคมและรัฐบาล เขารวมระบบข้าราชการประจำของสาธารณรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางและสุดท้ายประกาศตนเป็น “ผู้เผด็จการตลอดชีพ” ทำให้เขายิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก แต่ความขัดแย้งทางการเมืองใต้น้ำยังไม่สงบ และในไอดส์มีนาคม (Ides of March) คือ 15 มีนาคม 44 ปีก่อนคริสตศักราช ซีซาร์ถูกกลุ่มสมาชิกวุฒิสภากบฏลอบสังหาร นำโดย มาร์กุส ยูนิอุส บรูตุสผู้ลูก ผู้ซึ่งเป็นคนสนิทและเป็นเสมือนลูกศิษย์ โดยพูดเป็นประโยคสุดท้ายเป็นภาษาละตินว่า “Et tu Brute” (เจ้าด้วยหรือ บรูตุส)
คนรู้จักชีวิตส่วนมากของซีซาร์จากบันทึกการทัพของเขาเองและจากแหล่งข้อมูลร่วมสมัยอื่น นักประวัติศาสตร์หลายคนถือซีซาร์เป็นผู้บัญชาการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง
10.แมลคัม เอ็กซ์ (Malcolm X)
แมลคัม เอ็กซ์ หรือชื่อเกิดว่า แมลคัม ลิตเติล เป็นศาสนาจารย์และนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนมุสลิมเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมระหว่างสมัยขบวนการสิทธิพลเมือง และเป็นโฆษกฝีปากกล้าของกลุ่มศาสนาชาติอิสลาม เขาทำผิดกฎหมายหลายอย่าง จนถูกจำคุก 10 ปีในปี 1946 ฐานลักทรัพย์และลักทรัพย์ในเคหสถานเวลากลางคืน ระหว่างถูกจำคุก เขาเข้าร่วมกลุ่มชาติอิสลาม และเริ่มใช้ชื่อ “แมลคัม เอ็กซ์” (เพื่อสื่อว่าเขาไม่ทราบนามสกุลบรรพชนแอฟริกันของตน) และไม่นานก็กลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของกลุ่ม เขาเป็นโฆษกสาธารณะขององค์การอยู่ 12 ปี โดยเขาสนับสนุนการเพิ่มอำนาจของคนผิวดำ ความเป็นใหญ่ของคนผิวดำ (Black supremacy) การแบ่งแยกระหว่างอเมริกันผิวขาวและผิวดำ และวิจารณ์ขบวนการสิทธิพลเมืองกระแสหลักอย่างเปิดเผยเพราะเน้นคติไม่นิยมความรุนแรงและบูรณาการทางเชื้อชาติ แมลคัม เอ็กซ์ยังแสดงความภาคภูมิใจในความสำเร็จด้านสวัสดิการสังคมของชาติอิสลาม โดยเฉพาะโครงการบำบัดยาเสพติดฟรี หลังจากคริสต์ทศวรรษ 1950 เขาเริ่มถูกสำนักงานสอบสวนกลางสอดแนมจนกระทั่งสิ้นชีวิต
ในคริสต์ทศวรรษ 1960 แมลคัม เอ็กซ์ เริ่มเสื่อมศรัทธากับกลุ่มชาติอิสลาม ตลอดจนผู้นำ อีไลจาห์ มูฮัมมัด จากนั้นเขาเข้ารีตศาสนาอิสลามนิกายซุนนี และขบวนการสิทธิพลเมืองหลังเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมกกะ และใช้ชื่อว่า เอล-ฮัจญ์ มาลิก เอล-ชาบาซ หลังท่องทวีปแอฟริกาช่วงสั้น ๆ เขาบอกเลิกกลุ่มชาติอิสลามต่อสาธารณะ และก่อตั้งองค์กรชื่อ “Muslim Mosque, Inc.” และ “Organization of Afro-American Unity” ทำให้เกิดความขัดแย้งกับองค์กรเดิม ตลอดปี 1964 ความขัดแย้งระหว่างเขากับกลุ่มชาติอิสลามทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และเขาถูกขู่ฆ่าอยู่บ่อยครั้ง
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ระหว่างที่ แมลคัม เอ็กซ์ ปราศรัยที่หอประชุมออดูบอน ในแมนฮัตตัน มีผู้เข้าฟังกว่า 400 คน แต่แล้วก็มีชายผู้หนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า
“ไอ้นิโกร อย่ามายุ่งวุ่นวายกับเรื่องของฉันนะ”
ทำให้ แมลคัม เอ็กซ์ และบอดีการ์ดของเขาต้องพยายามระงับความวุ่นวาย แต่ทันใดนั้น ชายคนที่ตะโกนก็วิ่งออกมาจากด้านหน้าเวทีแล้วยิง แมลคัม เอ็กซ์ เข้าที่หน้าอกด้วยปืนลูกซอง พร้อมกันนั้นชายอีก 2 คน ก็ขึ้นไปบนเวที แล้วใช้ปืนพกรุมยิงเข้าที่ร่าง แมลคัม เอ็กซ์ แพทย์ประกาศว่า ร่างของ แมลคัม เอ็กซ์ ถูกนำส่งโรงพยาบาล โคลัมเบีย เพรสไบทีเรียน แพทย์ประกาศว่า แมลคัม เอ็กซ์ เสียชีวิตเมื่อเวลา 15:30 น. ผลการชันสูตรศพพบว่าร่างของเขาโดนยิงด้วยกระสุนลูกซอง 21 นัด บริเวณหน้าอก หัวไหล่ซ้าย แขน และขา นอกากนั้นยังพบแผลเป็นเก่าที่เคยถูกยิงก่อนหน้านั้นอีก 10 นัด
11.เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto)
เบนาซีร์ บุตโต เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถาน และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอิสลาม โดยดำรงตำแหน่ง 2 สมัย นางเบนาซีร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1953 เป็นบุตรสาวของซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ช่วง ค.ศ. 1971 ถึง ค.ศ. 1977 ที่ถูกรัฐประหารและประหารชีวิตโดยนายพลโมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก เธอลี้ภัยไปยังสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1984 และได้ตั้งที่ทำการพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan’s People’s Party – PPP) และขึ้นทำหน้าที่ผู้นำพรรคแทนนางเบกุม นุสรัต บุตโต แม่ของเธอ
หลังลี้ภัยในต่างประเทศถึง 8 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม เมื่อเบนาซีร์ บุตโต เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเพื่อจะรณรงค์หาเสียงเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 เธอได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากประชาชนเรือนแสนกลางกรุงการาจี ซึ่งสนับสนุนพรรคประชาชนปากีสถาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่มันก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 139 คน เธอไม่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้น
บ่ายวันที่ 27 ธันวาคม 2007 บุตโตขึ้นปราศัยที่สวนสาธารณะประจำเมืองราวัลภิณดี หลังเสร็จสิ้นการปราศัยเธอก็ขึ้นรถยนต์กันกระสุน มีประชาชนผู้สนับสนุนมาคอยให้การต้อนรับสองข้างทาง บุตโตจึงเปิดหลังคารถออก และลุกขึ้นยืนออกไปโบกมือทักทายผู้คนผ่านทางหลังคารถ ขณะนั้นมีชายคนหนึ่งยืนปะปนอยู่ในฝูงชนห่างจากตัวบุตโตออกไปเพียง 2-3 เมตร ได้ยิงปืนลูกซองเข้าใส่บุตโตด้วยกัน 3 นัด ไม่เพียงเท่านั้น เขายังสวมชุดระเบิดพลีชีพ และทำการจุดชนวนระเบิดทันที แรงระเบิดทำให้บุตโตบาดเจ็บสาหัส แต่ประชาชนในเหตุการณ์นั้นเสียชีวิตทันที 24 ราย ร่างของบุตโตถูกนำส่งโรงพยาบาลราวัลพิณดี แต่บุตโตเสียชีวิตแล้วขณะที่มาถึงโรงพยาบาล ไม่มีการสรุปผลการชันสูตรที่แน่ชัดว่าเธอเสียชีวิตด้วยกระสุนลูกซองก่อนแล้ว หรือเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด
12.โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี (Robert F Kennedy)
โรเบิร์ต ฟรานซิล “บ็อบบี” เคนเนดี เป็นนักการเมืองอเมริกัน และเป็นน้องชายของจอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ “แจ็ก” เคนเนดี เขาดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 ถึง 1964 ภายใต้การบริหารของพี่ชาย และประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน และเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาจากรัฐนิวยอร์ก
หลังเที่ยงคืนในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1968 ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างฤดูหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1968 เคนเนดีชนะการเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียและเซาท์ดาโคตา เพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาถูกยิงถึง 3 นัดขณะเดินผ่านห้องครัวของโรงแรมแอมแบสซาเดอร์ และผู้ติดตามอีก 5 คน ก็ถูกยิงบาดเจ็บ คำสุดท้ายที่เคนเนดีเอ่ยปากออกมาคือ “ทุกคนปลอดภัยโอเค ปลอดภัยกันไหม ?”
ร่างของเขาถูกนำส่งโรงพยาบาลกูดแซมมาไรเตน และเสียชีวิตในอีก 26 ชั่วโมงต่อมา เซอร์แฮน เซอร์แฮน ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์/จอร์แดน วัย 24 ปี ถูกตัดสินลงโทษฐานฆ่าเคนเนดีและมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ทนายความของเซอร์แฮน ได้เปิดแถลงการณ์หลักฐานอ้างว่าเขาถูกใส่ความ
13.อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโค (Alexander Litvinenko)
อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโค เดิมเป็นเจ้าหน้าที่เคจีบี ปลายปี 2000 เขาได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซีย มายังประเทศสหราชอาณาจักร และได้รับการลี้ภัยทางการเมือง ในปีถัดมา พฤศจิกายนปี 2006 ลิตวิเนนโคล้มป่วยกะทันหัน ต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตใน 3 สัปดาห์ต่อมา ผลตรวจสอบภายหลังการตายพบว่าเขาถูกวางยาด้วยสารรังสี พอโลเนียม-210 ในขนาดที่ทำให้ถึงตายได้ โดยไส่ไว้ในถ้วยชา ที่เตียงคนไข้ ก่อนเสียชีวิตนั้น เขากล่าวหาว่าประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางยาพิษแก่เขา
ในเวลาต่อมา ผลการสอบสวนกรณีแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการตายของลิตวิเนนโก โดยหน่วยงานรับผิดชอบของอังกฤษ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัสเซีย เจ้าหน้าที่อังกฤษยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่า “เรามั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าใครเป็นคนวางยา ที่ไหนและอย่างไร” อย่างไรก็ดี หลักฐานถูกเก็บไว้สำหรับหากจะมีการฟ้องร้องกันในอนาคต ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญของคดีนี้คือ อันเดรย์ ลูโกวอย (Andrei Lugovoy) อดีตเจ้าหน้าที่ของ เอฟเอสโอ (FSO ย่อมาจาก Russian Federal Protective Service) ซึ่งเขายังคงอยู่ในรัสเซีย
14.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr)
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เกิดในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ใน พ.ศ. 2472 (1929) เป็นบุตรของศิษยาภิบาลคณะแบปทิสต์ ศาสนาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเขาเสมอมา เนื่องจากทั้งพ่อและปู่ของเขาเป็นนักเทศน์ในนิกายแบปทิสต์ คิงทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า และตั้งแต่ 1957-1968 เขากล่าวสุนทรพจน์ 250,000 ครั้ง เขียนหนังสือ 5 เล่ม และบทความอีกมากมาย การทำงานหนักและความสามารถในการสื่อสารของเขาทำให้เขาเป็นที่นับถือมาก จนประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคเนดี้ ยังยอมให้เขาเข้าพบเป็นการส่วนตัวด้วย คิงกลายมาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากในสหรัฐ จนกระทั่งนิตยสาร ไทมส์ ยกย่องให้เขาเป็น “บุรุษแห่งปี” ในปี 1963 เป็นรางวัลที่น่าพอใจแน่นอน แต่กลับดูเป็นเรื่องเล็กไปเมื่อในปี 1964 เขาได้เป็นชายอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
วันที่ 4 เมษายน 1968 เวลา 18:01 น. คิงออกมายืนอยู่ที่ระเบียงห้องพักชั้น 2 ของโรงแรม ลอร์เรน ในเม็มฟิส ซึ่งเขาเข้าพักที่ห้องเดิมนี้เป็นประจำ ทำให้ เจมส์ เอิร์ล เรย์ (James Earl Ray) วางแผนล่วงหน้าได้ ด้วยการพักในโรงแรมฝั่งตรงข้าม เขาใช้ปืนไรเฟิลเรมิงตัน ยิงเข้าใส่คิง กระสุนผ่านเข้าที่แก้มขวา บดขยี้ฟันกราม วิ่งผ่านเส้นประสาทไขสันหลัง แล้วไปหยุดที่หัวไหล่ซ้าย ร่างของเขาถูกนำส่งโรงบาลเซนต์โจเซฟ หลังแพทย์พยายามผ่าตัดช่วยเหลือแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ คิงเสียชีวิตในเวลา 19:05 น. ด้วยวัย 39 ปี
หลังลั่นกระสุนสังหาร เรย์ก็หนีออกจากห้องพักทันที เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น พบหลักฐานทั้งปืนไรเฟิลและกล้องส่องทางไกลที่มีลายนิ้วมือเขาครบถ้วน เรย์หลบหนีไปหลายประเทศทั้ง แคนาดา, อังกฤษ, โปรตุเกส และแอฟริกาใต้ และสุดท้ายก็กลับมาที่ เทนเนสซี สหรัฐฯ ซึ่งเขาถูกรวบตัวได้ในวันที่ 10 มีนาคม 1969 ศาลตัดสินให้เขามีความผิดจริงฐานฆาตกรรม ให้จำคุกเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งเขาเสียชีวิตในคุกด้วยวัย 70 ปี