แอร์รอน เดวิส (Aaron Davis) และ แดน ฟินเลย์ (Dan Finlay) สองผู้ก่อตั้ง เมตามาสก์ (Metamask) กระเป๋าคริปโทฯ รูปหน้าจิ้งจอกที่มีผู้ใช้งานเยอะที่สุดในโลก และแทบจะเป็นแอปแรกที่คนนึกถึงเวลาพูดถึงกระเป๋าสำหรับเก็บคริปโทฯ พวกเขาได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไวซ์ (Vice) ว่าพวกเขายอมรับว่าการลงทุนในคริปโทฯ เป็นแชร์ลูกโซ่และการพนัน
ถึงแม้ว่าตลาดคริปโทฯ จะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในหลายปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งเมตามาสก์เองยังเติบโตจากผู้ใช้งานเพียง 1,000,000 คน ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000,000 คน ในปีนี้ และมีทั้งโครงการทั้งนวัตกรรมมูลค่ามหาศาลเกิดขึ้นมากมาย อย่าง Stablecoins, NFT, และเกมแบบ Play-to-earn แต่สองผู้ก่อตั้งเมตามาสก์ก็ยังมองว่าตลาดคริปโทฯ ในช่วงนี้เป็นเหมือนบ่อนคาสิโนที่เต็มไปด้วยแชร์ลูกโซ่อันตรายมากมาย และดูเหมือนทุกอย่างจะยิ่งชัดขึ้นเมื่อตลาดขาลงครั้งรุนแรงในปัจจุบันนี้ได้มาถึง
แอร์รอน เดวิส กล่าวว่าการออกมาพูดตอนนี้ดูจะสายเกินไป แต่เขาไม่แนะนำให้ใครนำเงินเก็บทั้งชีวิตไปไว้ในคริปโทฯ เลย โดยในบทสัมภาษณ์สามารถสรุปใจความได้เป็น 3 เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้พวกเขายังมองคริปโทฯ เป็นแชร์ลูกโซ่อยู่
1. เกือบทั้งหมดเป็นการพนัน
เดวิสบอกว่าถ้าใครสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ชัดว่าตลาดตอนนี้นั้นเต็มไปด้วยปัญหามากมาย การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้คนแห่กันเข้ามาลงทุนเพื่อหวังรวยทางลัด ทำให้หลายคนที่เข้ามาด้วยความเร่งรีบนั้นไม่ได้เข้าใจหลักการอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้อยู่ในทั้งกลุ่ม ‘ผู้พัฒนา’ และ ‘ผู้ลงทุน’ เมื่อผู้ลงทุนนำเงินเข้ามาด้วยความไม่เข้าใจ เหมือนแค่พนันว่าโครงการจะทำให้เขารวยเท่านั้น แถมผู้พัฒนายังไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยีจริง ก็ไม่แปลกที่โครงการจะล้มเหลว
เขาไม่แปลกใจเลยที่เห็นโครงการมากมายเกิดขึ้นและดับลงไปในแต่ละวัน เพราะโครงการเหล่านั้นล้วนเป็นแชร์ลูกโซ่ ตลาดในช่วงนี้คือช่วงของ ‘การสร้างสรรค์และการทดลอง’ ที่ใครก็สามารถมานำเสนออะไรก็ได้ สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือจำนวนเงินที่ผู้คนสูญเสียไปจากแชร์ลูกโซ่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาเปรียบความไม่รู้ของคนในช่วงเวลานี้
เขากล่าวว่าตัวอย่างที่ไม่ดีคือบริษัทที่อ้างตัวว่าเป็น Defi อย่าง Celsius และ Voyager ที่บอกว่าตัวเองเป็นธนาคาร แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงธนาคารปลอมที่ไม่ได้ไร้ศูนย์กลางอย่างที่ว่าไว้ แถมยังกู้เงินจำนวนมากจนเกิดความเสี่ยง ที่แย่ที่สุดคือความไม่โปร่งใสของบริษัทที่ทำให้นักลงทุนไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจริง ๆ เงินของพวกเขาไม่ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ความโปร่งใสแทบจะเป็นแก่นหลักของคริปโทฯ เลยด้วยซ้ำ
2. ระบบป้องกันไม่เพียงพอ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานคริปโทฯ รวมไปถึงผู้ใช้งาน NFT ถูกขโมยทรัพย์สินดิจิทัลหรือของสะสมมูลค่ามหาศาลมากมาย เพียงเพราะการคลิกที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ในขณะที่การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในแต่ละแอปพลิเคชันจำเป็นจะต้องให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อกระเป๋าเข้ากับเว็บไซต์นั้น ๆ แต่การเชื่อมต่อกระเป๋าเข้ากับเว็บไซต์ที่ผิดก็สามารถทำให้เงินทั้งหมดในกระเป๋านั้นหายไปได้ในพริบตาเลยทีเดียว แถมเงินเหล่านั้นก็ไม่มีวันเอากลับคืนมาได้อีกด้วย
แดน ฟินเลย์ มองว่าระบบรักษาความปลอดภัยของหลายโครงการที่มีอยู่ตอนนี้ มันดูไม่เพียงพอที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมมูลค่าหลายหมื่นล้านนี้เลย เพราะฉะนั้นมันจึงยังไม่สามารถเป็นรากฐานให้กับระบบการเงินได้ เนื่องจากการนำเงินมาไว้ในระบบนี้อาจจะทำให้ผู้ใช้งานตกเป็นเป้าของผู้ไม่หวังดีได้
3. คนยังเข้าใจแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ซึ่งฟินเลย์กล่าวว่าปัญหาความปลอดภัยนี้หลัก ๆ ก็มาจากการที่ผู้คนยังไม่เข้าใจระบบที่อาศัยความรับผิดชอบส่วนตัวเป็นหลักนี้ดีพอ เขามองว่าตลาดคริปโทฯ ตอนนี้อยู่ในช่วง ‘ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบประหลาด’ เนื่องจากผู้คนส่วนมากยังไม่สามารถจะดูแลรหัสกระเป๋าของตัวเองได้ แม้ว่ารหัสนั้นจะเป็นแก่นหลักของระบบนี้ทั้งระบบก็ตาม
เขากล่าวว่าจริง ๆ แล้วผู้ไม่หวังดีทั้งหลายไม่มีทางที่จะควบคุมเงินในกระเป๋าเราได้เลย เนื่องจากผู้ควบคุมเงินในกระเป๋าคือผู้ที่ควบคุมรหัส ‘ตราบใดที่รหัสยังเป็นของเรา เงินในกระเป๋าก็เป็นของเรา’
แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายที่หลงกลถูกขโมยรหัสกระเป๋านี้ไป ซึ่งผลกระทบจากปัญหาด้านความปลอดภัยนี้รุนแรงมาก แถมเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันไม่มีทางไหนที่จะย้อนกลับไปได้อีก เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ทุกคนควรจะทำก็คือการปกป้องตัวเองมากที่สุด
ทั้งสองกล่าวว่ามันไม่มีทางที่จะหยุดกลลวงเหล่านี้ไว้ได้ แม้แต่เมตามาสก์เองก็ทำหน้าที่เฉพาะเป็นเหมือนตัวกลางในการสื่อสาร เหมือนเว็บเบราว์ซอร์ที่เชื่อมต่อผู้ใช้เข้ากับระบบต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของผู้ใช้ที่ต้องระวังตัวมากขึ้น ว่ากำลังเชื่อมต่อกับระบบอะไร แล้วกำลังทำอะไรที่มีความเสี่ยงอยู่หรือเปล่า
ตราบใดที่ผู้ใช้ยังดูแลรหัสกระเป๋าตัวเองไว้ได้ พวกเขาก็ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันเมตามาสก์ก็จะพยายามเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าที่ทำได้เช่นกัน
ทั้งสองกล่าวทิ้งท้ายว่ากลลวงทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่มันเป็นแค่การพลิกแพลงกลลวงทั่วไปที่นักต้มตุ๋นใช้กันมาตลอดอยู่แล้ว คริปโทฯ ดูจะกลายเป็นแพะรับบาปของความผิดพลาดทางการเงินของผู้คนที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ “ทั้งที่จริง ๆ แล้วคริปโทฯ ไม่ได้เป็นตัวการทำให้ระบบไม่ปลอดภัย แต่การเข้ามาของคริปโทฯ ทำให้เราทุกคนได้รู้ต่างหากว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันมาตลอดนั้นไม่ได้ปลอดภัยเลย”
ที่มา: VICE
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส