วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.ชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ถึงโอกาสการขยายตลาดซอสและเครื่องปรุงรสไทยในเนเธอร์แลนด์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น หลังในช่วงโควิด-19 ชาวดัตช์หันมาทำอาหารบริโภคที่บ้านเพิ่มมากขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีความต้องการซอสและเครื่องปรุงรสของไทยเพิ่มขึ้น ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า เทรนด์การบริโภคอาหารของชาวดัตช์ ไม่เพียงแต่นิยมอาหารที่ทำจากพืชเท่านั้น แต่ยังชื่นชอบทานอาหารทานเล่น โดยเฉพาะของทอด ทำให้มีความต้องการซอสจิ้มต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้ร้านอาหารต้องปิดบริการชั่วคราวและมีการทำงานที่บ้านนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวดัตช์มีการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น จึงมีความต้องการวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส และซอสต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยซอสและเครื่องปรุงรสที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ซอสพริก ซอสพริกศรีราชา ซอสพริกศรีราชาผสมมายองเนส น้ำจิ้มปอเปี๊ยะ น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มบ๊วย น้ำยำ น้ำสลัด น้ำปลาหวาน เป็นต้น และซอสปรุงรสประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมันหอย ซีอิ้วขาว ซีอิ้วขาวเห็ดหอม ซีอิ้วดำ ซีอิ้วดำหวาน น้ำส้มสายชู ซอสผัดไทย ซอสผัดกระเพรา ซอสบาร์บีคิว ซอสผัดพริกไทยดำ ซอสผัดเปรี้ยวหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ยังรายงานอีกว่ามีสินค้าไทยหลายรายการกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติไทย มีรสเผ็ด หรือมีพริก ซอสพริก หรือซอสรสเผ็ดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซอสศรีราชา ซอสสำหรับจิ้มหรือทานคู่กับอาหาร โดยเฉพาะ Sriracha Mayo และขนมขบเคี้ยวที่มีการพัฒนารสชาติเป็นรสซอสศรีราชา รส Thai Sweet Chili Sauce เป็นต้น ที่ผลิตออกมาเพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาด
นายภูสิตกล่าวว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคชาวดัตช์ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นสังคมผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคมีปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า โดยมุ่งเน้นด้านราคาและคุณภาพเป็นหลัก ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิต คุณภาพของส่วนผสมและวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ปราศจากสารปนเปื้อนและสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ และควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและแตกต่าง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของรสชาติความเป็นไทย
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ควรทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานได้ง่ายและสะดวก มีหลายขนาดเพื่อความเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มร้านอาหาร และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และควรมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์บนฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ซอสของไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น สามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ข้อมูลในปี 2564 ระบุว่าไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารไปเนเธอร์แลนด์ มูลค่า 56.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.80% โดยประเทศคู่ค้าที่เนเธอร์แลนด์นำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม โปแลนด์ สหราชอาณาจักร และไทย โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและสิ่งปรุงรสอาหารของไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และมีการวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตหลักของเนเธอร์แลนด์ เช่น Albert Heijn, Jumbo, Plus, Aldi และ Lidl ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ไทย และผลิตภัณฑ์ที่เป็น Private Label Brand แต่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงยังมีการวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียและร้านขายสินค้าเอเชียอีกด้วย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ