วันที่ 17 ส.ค. 2565 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินธุรกิจครึ่งปีแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขาย รวม 3,029 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 102,496 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52,284 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 165% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 682 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,053 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 634% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโต ได้รับปัจจัยบวกจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ควบคู่กับความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียกวันยังเป็นผลจากการเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานแบบก้าวกระโดดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter
โดยช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ บ้านปู ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติและธุรกิจกลางน้ำที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ทั้งยังได้ลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Sequestration: CCS) ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ในรัฐเท็กซัส นอกจากนี้ ทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตฟอลิโอทางธุรกิจและสร้าง New S-Curve โดยเริ่มจากการลงทุนในกองทุนด้านเฮลธ์แคร์ นับเป็นการเปิดมิติใหม่สู่ธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้คน (Life-Betterment)”
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ด้านกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง มีผลประกอบการแข็งแกร่งจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะที่อุปทานตึงตัว นอกจากนี้การเข้าซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ และครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตรวมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู เพิ่มเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน
- กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และน็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมการเดินเครื่อง (Pre-commissioning) เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เมื่อมีการเรียกกระแสไฟฟ้าจากผู้รับซื้อไฟ (EVN)
- กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) เร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง โครงการที่สำคัญในครึ่งปีแรก ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตรกับดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก และเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับ e-Bus ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 พร้อมบุกตลาดรถอีวีในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งมีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านบริษัทย่อยของบ้านปู ในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์ รวม 7.27 เมกะวัตต์
“เรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานอย่างครบวงจรจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถสร้างสมดุลของผลการดำเนินงาน และลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งสภาวะตลาด เศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย