วันที่ 19 สิงหาคม 2565 มินิโซ กรุ๊ป โฮลดิง (Miniso Group Holding Ltd.) เจ้าของแบรนด์มินิโซ (Miniso) จากประเทศจีน ขอแถลงการณ์ขอโทษที่เคยพยายามสื่อสารว่ามินิโซนั้นเป็นแบรนด์สไตล์ญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่ปลุกกระแสชาตินิยมในจีนให้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ในแถลงการณ์ของ มินิโซ กรุ๊ป โฮลดิง ระบุว่าเป็นกลยุทธ์ของแบรนด์เองที่นำเสนอตัวเองเป็นสไตล์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าภายในร้าน ลวดลายตัวการ์ตูนบนถุงชอปปิง สไตล์ของภาษาที่ใช้เพื่อการตลาด ตลอดจนนักออกแบบก็เลือกชาวญี่ปุ่นมาทำงานให้
ข้อความส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “บริษัทขออภัยอย่างยิ่งที่เลือกใช้กลยุทธ์การตลาดเช่นนี้ มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรารู้สึกเสียใจอย่างมากและสำนึกผิดในการกระทำครั้งนี้แล้ว”
กลยุทธ์ดังกล่าวถูกถอดออกจากแบรนด์มินิโซ ตั้งแต่ปี 2562 โดยแบรนด์ได้พยายามตัดและลดทอนองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นออกไป รวมถึงป้ายร้านค้าและสาขาต่าง ๆ กว่า 3,000 แห่งก็ถูกปรับเปลี่ยนตัวอักษรให้เป็นภาษาจีนกลาง และจะทยอยเปลี่ยนให้ครบทุกสาขาในต่างประเทศด้วย โดยตั้งเป้าว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566
กระแสต่อว่าแบรนด์มินิโซเกิดขึ้นจากการโปรโมตตุ๊กตาของสาขาในประเทศสเปน ที่เขียนข้อความบรรยายสินค้าว่า ‘ตุ๊กตาเกอิชาญี่ปุ่น’ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียชาวจีน โดยเกิดข้อถกเถียงว่า ตุ๊กตาดังกล่าวไม่ใช่ตุ๊กตาญี่ปุ่น แต่เป็นตุ๊กตาที่สวมชุดกี่เพ้าของจีนต่างหาก ซึ่งความร้อนแรงในโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้บริษัทต้องออกแถลงการณ์ขอโทษในที่สุด
ทั้งนี้ กระแสชาตินิยมในจีนกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เนื่องจากการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
กระแสการต่อต้านแบรนด์ต่างชาติ หรือแบรนด์จีนที่พยายามสื่อสารว่าตัวเองเป็นแบรนด์ต่างชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นกับมินิโซเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ แบรนด์รถหรูอย่าง Mercedes-Benz และแบรนด์เสื้อผ้า H&M ก็ถูกแบนจากชาวจีนมาแล้ว เนื่องจากกระแสชาตินิยมในช่วงที่สงครามยูเครน-รัสเซียปะทุขึ้นในช่วงแรก ๆ
ที่มา : Bloomberg
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส