กรมสรรพากรของญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับเสียงวิจารณ์และแรงต่อต้านของประชาชน หลังจากปล่อยแคมเปญกระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับคนรุ่นใหม่ หลังสูญเสียรายได้ภาษีที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ ‘สาเก’ (เหล้าที่ทำมาจากข้าว)

แคมเปญ Sake Viva หรือ “ดื่มสาเกกันเถอะ!” ของกรมสรรพากรญี่ปุ่น ถูกจัดขึ้นบนทวิตเตอร์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี นำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจเพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะสาเก หรือเหล้าที่ทำมาจากข้าวของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อะไรก็ได้ เช่น โซจู วิสกี้ เบียร์ หรือไวน์ ทั้งนี้ แนวคิดที่จะส่งเข้าประกวดนั้น ต้องสร้างสรรค์และมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาประยุกต์ใช้

sake
สาเก หรือเหล้าที่ทำมาจากข้าวของญี่ปุ่น

แคมเปญดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างร้อนแรงในทวิตเตอร์ โดยส่วนใหญ่มองว่าแคมเปญนี้ ‘ไร้สาระ’ เนื่องจากการที่คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง เป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ แคมเปญ Sake Viva ยังขัดแย้งกับคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ที่ระบุว่าไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เนื่องจากส่งผลเสียต่อสุขภาพ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหา เนื่องจากยอดขายสินค้าที่ลดลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยผลกระทบเหล่านี้เลวร้ายลงไปอีกเมื่อโควิด-19 มาถึง ทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านอาหารและบาร์หายไป และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังจะดีขึ้น ญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบหลายสิบปี

ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลง เริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยข้อมูลจากกรมสรรพากรของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีรายได้จากการขายสุราราว 8,000 ล้านเหรียญ (285,680 ล้านบาท) โดยคิดเป็น 2% ของรายได้ภาษีทั้งหมดที่ญี่ปุ่นจัดเก็บได้ในปี 2020 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าลดลง 13% เมื่อเทียบกับปี 2016 ที่ญี่ปุ่น

สำหรับแคมเปญ Sake Viva จะสิ้นสุดในวันที่ 9 กันยายน (ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น) และจะมีการจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 10 พฤศจิกายน ณ กรุงโตเกียว ทั้งนี้ ตัวแทนของกรมสรรพากรของญี่ปุ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า แคมเปญดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญความยากลำบากในช่วงวิกฤติโควิด-19 มิได้เป็นการสนับสนุนให้ใครดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นระบุว่า แม้กระทรวงจะไม่มีส่วนร่วมในแคมเปญดังกล่าว แต่ก็เข้าใจจุดประสงค์ของแคมเปญเป็นอย่างดี และหวังว่าผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมการดื่มที่รับผิดชอบต่อสังคม

ที่มา : Bloomberg

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส