ปกติแล้วเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้นเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอซซิล เช่น น้ำมันและแก๊ส แต่นักวิจัยพบว่ามีแบคทีเรียชื่อ ‘เสตร็ปโทไมซีส’ (Streptomyces) ที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงนี้ได้
แบคทีเรียตัวนี้สามารถสร้าง ‘โมเลกุลระเบิด’ ขึ้นมาเมื่อมันได้กินน้ำตาล ซึ่งโมเลกุลนี้เองที่นักวิจัยอ้างว่าอาจกลายเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้ โดยดอกเตอร์พาโบล ครูซ โมราเลส (Pablo Cruz-Morales) นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคเดนมาร์กกล่าวว่า “ถ้าเราสามารถสร้างเชื้อเพลิงจากสิ่งนี้ได้ ก็ไม่มีข้ออ้างในการใช้น้ำมัน และมันจะเปิดโอกาสให้การใช้พลังงานยั่งยืนขึ้น”
แล้วแบคทีเรียจะสร้างเชื้อเพลิงได้อย่างไร?
ดอกเตอร์โมราเลสกล่าวว่าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ กล่าวคือเมื่อแบคทีเรียเหล่านี้กินน้ำตาลหรือกรดอะมิโนเข้าไป มันจะย่อยสลายและเปลี่ยนเป็นองค์ประกอบของพันธะคาร์บอน คล้ายกันกับการสร้างไขมันของร่างกายเรา
จุดที่แตกต่างกันก็คือพันธะคาร์บอนของแบคทีเรียตัวนี้นั้นเป็นสามเหลี่ยม แตกต่างจากปกติที่จะยืดหยุ่นและไม่มีมุมแหลม เมื่อพันธะเหล่านี้มีมุมแหลมทำให้มันสามารถโค้งงอได้ แล้วเมื่อมันหัก พันธะเหล่านี้จะปลดล่อยพลังงานออกมาซึ่งอาจนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
มลพิษจากเครื่องบินต่อโลก
ปัจจุบันคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งทางอาการนั้นคิดเป็น 2% ของทั้งโลก โดยการเดินทางจากลอนดอนไปนิวยอร์กครั้งเดียวนั้นปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่ากับปริมาณที่คน ๆ หนึ่งในประเทศกานาผลิตได้ทั้งปีเสียอีก และถ้าเกิดนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจก็จะยิ่งผลิตมากขึ้นเป็น 3 เท่า ต่อ 1 คน โดยเฉลี่ย
ดอกเตอร์โมราเลสกล่าวว่าปัญหาในตอนนี้คือเชื้อเพลิงฟอซซิลได้รับการสนับสนุนอยู่ แต่สักวันหนึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะหมดไป และเราก็ต้องหาทางเลือกในการแก้ปัญหาในเร็ว ๆ นี้อยู่ดี เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหานี้มันไม่ใช่แค่เรื่องการวิจัยทางเทคโนโลยี แต่มันต้องแก้ไขทั้งเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองและสังคมการเมืองโลกด้วย
ที่มา: euronews
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส