2 ก.ย. 2565 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Thailand Global Innovation Forum 2022 (TGIF 2022) ในวาระครบรอบ 13 ปี และในปีหน้าไทยเตรียมเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เน้นการลงทุนและต่อยอดด้านนวัตกรรม จึงตั้งเป้าหมายช่วยผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นชาตินวัตกรรมอันดับที่ 30 ของโลกในปี 2030
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ในปี 2021 ดัชนีนวัตกรรมประเทศไทย Global Innovation Index 2021 (GII 2021) อยู่ที่ 37.2 คะแนน อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการทรงตัวอยู่ในลำดับที่ 43-44 เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน โดยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ หรือในปี 2027 จึงตั้งเป้าให้ไทยขึ้นมาเป็นอันดับที่ 35 ของโลก ด้วยคะแนน 42.4 คะแนน ผ่าน 6 แนวทาง
แนวทางที่ 1 รัฐคือ Sandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม ซึ่งจากการสำรวจของของ GII 2022 พบว่า กฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยในการพัฒนานวัตกรรมในไทย อยู่อันดับที่ 112 จาก 132 ประเทศ การมีส่วนร่วมทางออนไลน์ของภาครัฐได้คะแนนต่ำลงในปีที่ผ่านมา และการลงทุนด้านนวัตกรรมส่วนมาก 80% เป็นเอกชนลงทุนกันเอง รัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้
แนวทางที่ 2 เร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมต่อกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพราะจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา 68% มาจาก เอกชน ทำให้อันดับ GII 2022 ในส่วนนี้ลดลงค่อนข้างมาก
แนวทางที่ 3 กระตุ้นกิจกรรมและสร้างฐานข้อมูลตลาดการเงินนวัตกรรมและตลาดทุนทางเทคโนโลยี เพราะในปี 2020 Venture capital deals ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 5.8% แต่การลงทุนในสตาร์ทอัปไทยกลับลดลง
แนวทางที่ 4 เพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ โดยไทยมีธุรกิจเกิดใหม่ในปี 2020 มีมากถึง 63,340 ราย แต่อัตราการผลิตภาพแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำจนคะแนน GII 2022 อันดับโลกลดลง
แนวทางที่ 5 กระตุ้นการจดทะเบียนและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากไทยมีอัตราการขอจดทะเบียนในส่วนนี้เพียง 7,525 คำขอ ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้ไทยจะมีการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ออรถประโยชน์โดนแหล่งกำเนิดอยู่ใน Top 10 ของโลกก็ตาม
แนวทางที่ 6 เพิ่มจำนวนนวัตกรรมฐานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เนื่องจากมีสัดส่วนมูลค่าต่อจีดีพีไทยแค่ 8.93% เท่านั้น ควรผลักดันการสร้าง Mobile Application ให้มากขึ้น และควรเริ่มเก็บสถิติการส่งออกบริการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมได้แล้ว เพื่อเพิ่มคะแนนในส่วนนี้ โดยเน้นการใช้ Soft Power ที่โดดเด่นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ NIA มองว่า ปัจจุบันไทยมียูนิคอร์นที่เป็น FinTech จำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ รัฐให้ความสำคัญใน Startup กลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ผ่านทำ Sandbox ที่มีประสิทธิภาพ แต่ควรมองถึงการพัฒนากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ด้วย โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือ DeepTech นวัตกรรมอาหาร เพราะไทยมีองค์กรใหญ่ระดับโลกอยู่แล้ว จึงถือเป็นข้อได้เปรียบ ซึ่งที่ผ่านมา มี Startup ข้ามชาติ เข้าลงทุนในไทยจำนวนมาก แต่เกิดการจ้างงานคนไทยไม่มากนัก ดังนั้นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เชื่อมโยงคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กให้ทำงานร่วมกันได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐควรเร่งมือเป็นอย่างยิ่ง