หลังจากที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Queen Elizabeth II) เสด็จสวรรคตเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 กันยายน 2022 (ตามเวลาท้องถิ่น) ความสนใจของผู้คนคงหนีไม่พ้นเรื่องของรายละเอียดพิธีการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ประโยคที่ว่า “London Bridge is Down.” หรือแปลว่า “สะพานลอนดอนล่มแล้ว” หรือชื่อแผนปฏิบัติการ ‘Operation London Bridge’ ที่รัฐบาลใช้เป็นรหัสลับเพื่อสื่อสารข่าวสวรรคตของพระองค์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกในเวลานี้ บทความนี้จะชี้แจงโดยละเอียดว่าปฏิบัติการนี้คืออะไร และรวมไปถึงรายละเอียดโดยคร่าว ๆ ของพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ปฏิบัติการ ‘Operation London Bridge’ คืออะไร ?
‘ปฏิบัติการสะพานลอนดอน’ หรือ ‘Operation London Bridge’ เป็นปฏิบัติการ ‘ลับ’ ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อใช้สำหรับเตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้าในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรรคต เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถเตรียมกำหนดการ นับตั้งแต่การประกาศสวรรคต ระยะเวลาการไว้ทุกข์ และรายละเอียดการดำเนินการจัดพระราชพิธีพระศพ รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนอย่างสงบเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
ปฏิบัติการสะพานลอนดอนนั้นมีการวางแผนดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขตลอดเรื่อยมา ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในแต่ละครั้ง จะต้องมีการประชุมของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เช่น หน่วยตำรวจนครบาล กองทัพ คริสตจักรแห่งอังกฤษ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ ในการตัดสินใจสำคัญบางประการ อาจเป็นพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระราชินีนาถโคยตรง หรือในบางเรื่องก็อาจอาศัยพระราชวินิจฉัยของผู้สืบบัลลังก์ต่อด้วย
ซึ่งการใช้สะพานลอนดอน (London Bridge) เป็นตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องจากสะพานลอนดอน ถือเป็นสะพานสำคัญของกรุงลอนดอนที่มีที่มาอันยาวนาน และเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ต้นกำเนิดการใช้รหัสลับในการสื่อสารบอกข่าวเหตุสวรรคตนั้นเริ่มมาตั้งแต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 19 เนื่องจากการจัดงานพระศพในสหราชอาณาจักรมักดำเนินการด้วยความไม่เรียบร้อยมาโดยตลอด เช่นในงานพระศพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (Princess Charlotte of Wales) ในปี 1817 ก็มีบันทึกว่าเหล่าสัปเหร่อในงานพิธีล้วนแต่เมาสุรา ส่วนในงานพระศพของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรในปี 1830 ก็มีบันทึกไว้ว่าเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย มีความผิดพลาดซ้ำซ้อนเกิดขึ้นหลายประการ
จนกระทั่งถึงปี 1875 ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) จึงเริ่มมีการเตรียมงานพระศพของพระองค์เองเอาไว้ล่วงหน้าเป็นครั้งแรก จนกระทั่งสวรรคตลงในปี 1901 หรือในอีก 26 ปีให้หลัง แต่การใช้รหัสลับเพื่อแจ้งข่าวการสวรรคตนั้น ถูกใช้เป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร (King George VI) พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่สวรรคตในปี 1952 โดยราชเลขาธิการได้แจ้งข่าวต่อราชสำนัก รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และสื่อมวลชนว่า ‘ที่มุมสวนไฮด์’ (Hyde Park Corner) เพื่อสื่อเป็นนัยว่า บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว
ต่อมา เมื่อสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth The Queen Mother) พระราชมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้มีการใช้แผนปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีชื่อเรียกว่า ‘ปฏิบัติการสะพานเทย์’ (Operation Tay Bridge) ที่มีการเตรียมงานเอาไว้ล่วงหน้านานถึง 22 ปี ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตในปี 1952 และแผนปฏิบัติการสะพานเทย์ ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นแบบแผนงานพระศพเจ้าหญิงไดอานา (Diana, Princess of Wales) ในปี 1997 อีกด้วย
แผนปฏิบัติการในทำนองนี้เคยถูกนำมาใช้กับพระราชวงศ์พระองค์อื่นด้วย โดยมีชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันออกไป เช่น ‘ปฏิบัติการสะพานฟอร์ธ’ (Operation Forth Bridge) เป็นแผนที่ถูกใช้สำหรับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ที่สวรรคตเมื่อปี 2021 และ ‘ปฏิบัติการสะพานเมนาย’ (Operation Menai Bridge) เป็นแผนที่ถูกเตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) แห่งสหราชอาณาจักร ผู้สืบต่อราชวงศ์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
D-Day
: ‘สะพานลอนดอนล่มแล้ว’
ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรรคต ปฏิบัติการสะพานลอนดอนจะเริ่มต้นขึ้นทันที ราชวงศ์จะทราบข่าวเป็นอันดับแรก และผู้ที่จะแจ้งข่าวการสวรรคตอย่างเป็นทางการคนแรกคือ เซอร์ คริสโตเฟอร์ ไกด์ท (Sir Christopher Geidt) พระราชเลขาส่วนพระองค์ จะทำการโทรศัพท์เพื่อแจ้งข่าวสำคัญไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลตามลำดับ หรือที่เรียกว่า ‘Call Cascade’ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสตามลำดับตำแหน่ง สื่อมวลชน และแจ้งไปยัง 15 ประเทศที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ และประเทศที่อยู่ในสมาชิกเครือจักรภพอีก 37 ประเทศ
ในขณะที่สำนักองคมนตรี ที่มีหน้าที่ประสานงานราชการในนามสมเด็จพระราชินีนาถก็จะได้รับแจ้งข่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะแจ้งข่าวด้วยรหัสลับว่า “London Bridge is Down.” หรือแปลว่า “สะพานลอนดอนล่มแล้ว”
ในขณะที่ปลัดกระทรวงจะได้รับสคริปต์จากรัฐบาลที่แจ้งว่า “เราเพิ่งจะได้รับแจ้งข่าวถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี” และในสคริปต์จะระบุว่า “จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจ” (Discretion is Required.) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งอีเมลไปแจ้งข่าวแก่ข้าราชการระดับสูง โดยจะมีหัวเรื่องระบุไว้ว่า “แต่เพื่อนร่วมงานที่รักยิ่ง, ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสลดเพื่อเขียนแจ้งให้ท่านทราบ เกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วยความเศร้าเสียใจ” เมื่อรัฐบาลได้ทราบข่าวนี้โดยทั่วกันแล้ว ธงชาติอังกฤษที่ประดับทั่วรัฐสภาจะถูกลดครึ่งเสาภายในไม่เกิน 10 นาที
วันที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต จะถูกเรียกขานว่าเป็น ‘วันดีเดย์’ (D-Day) ในขณะที่วันอื่น ๆ ตามกำหนดการ จะถูกเรียกขานเรียงตามกำหนดการพระราชพิธีพระศพ เช่น ‘D+1’ และ ‘D+2’ เรียงไปตามลำดับ โดยมีการคาดการณ์ว่าพระราชพิธีพระศพในครั้งนี้จะมีกำหนดการอยู่ที่ 10 วัน
สถานีวิทยุของ BBC จะได้รับการแจ้งเตือนข่าวผ่านสัญญาณแสงไฟสีน้ำเงินทีเรียกว่า ‘ไฟมรณกรรม’ (Obit Light) เพื่อแจ้งเตือนข่าวสวรรคต สถานีจะงดรายการที่มีเนื้อหาบันเทิงเริงรมย์ทั้งหมด และจะเริ่มมีการเปิดเพลง “God Save The Queen” ไฟนี้จะกะพริบเพื่อเตือนผู้จัดรายการให้เตรียมตัวตัดเข้าการรายงานข่าวการสวรรคต และเปลี่ยนธีมเพลงที่ใช้เป็นเพลงที่มีโทนเศร้า
ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์จะแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์สีดำ สื่อภายใต้การดูแลจะเปลี่ยนสีแบรนด์เป็นสีดำทั้งหมด และได้รับการซักซ้อมประกาศข่าวสำคัญเตรียมไว้ล่วงหน้า สถานีจะตัดเข้าแฟ้มภาพยนตร์ข่าวและสารคดีที่ถูกเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า หนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุ ก็จะมีการเตรียมข่าวและภาพข่าวเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อรายงานข่าวสำคัญไว้ด้วยเช่นกัน
โดยปกติแล้วตามธรรมเนียม สำนักข่าวบีบีซี (BBC) สำนักข่าวหลักของประเทศจะเป็นสื่อมวลชนรายแรกที่ผูกขาดการรายงานข่าวสำคัญนี้ โดยสถานีในเครือข่ายของ BBC ทั้งหมดจะตัดเข้าสัญญาณของสถานีหลักคือช่อง BBC 1 ก่อนที่สื่ออื่น ๆ จะได้รับรายงานข่าวต่อ ๆ กันมา แต่ในปัจจุบัน ด้วยความรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย สำนักข่าวทั่วโลกจึงจะได้ทราบข่าวนี้แทบจะในทันที นอกจากนี้สำนักข่าวอื่น ๆ ของอังกฤษก็มีการซักซ้อมเตรียมการประกาศข่าวสำคัญไว้ด้วยเช่นกัน เช่น สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) และสกายนิวส์ (Sky News) ที่ใช้ชื่อรหัสว่า ‘คุณผู้หญิงโรบินสัน’ (Mrs. Robinson) เพื่อใช้เรียกแทนสมเด็จพระราชินีนาถ ในการซ้อมประกาศข่าวสำคัญมาแล้วก่อนหน้านี้
ในขณะที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักร และสภานิติบัญญัติในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จะมีการนัดประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่อกำหนดแถลงการณ์สวรรคต ในเวลาเดียวกัน ทหารราบรักษาพระองค์ประจำประตูพระราชวังบักกิงแฮมจะแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์ ออกมาติดป้ายประกาศสวรรคตจากสำนักพระราชวัง ซึ่งพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีขอบสีดำไว้ที่ประตูของพระราชวังบักกิงแฮมทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบทั่วกัน เว็บไซต์ของสำนักพระราชวังจะเปลี่ยนภาพเพื่อแสดงความไว้อาลัย อาคาร สำนักงานของรัฐบาล ฐานทัพ จะมีการลดธงลงครึ่งเสา พระราชวงศ์ทุกพระองค์จะยกเลิกปฏิบัติกรณียกิจต่าง ๆ ในทันที
ในวันเดียวกันนั้นเอง จะมีพิธีถวายความอาลัยขึ้นในมหาวิหารเซนต์ปอล (St. Paul’s Cathedral) กรุงลอนดอน โดยมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอาวุโสจำนวนหนึ่งเข้าร่วม รัฐบาลจะประกาศให้ประชาชนทั่วประเทศจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการสงบนิ่ง (National Minute’s Silence) เพื่อถวายความอาลัย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (Prince Charles, Duke of Cornwall) ในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ หลังจากนั้นจะมีการถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของพระองค์ไปทั่วประเทศ
D+1
: ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide)
วันรุ่งขึ้นหลังการสวรรคต จะมีปฏิบัติการย่อยควบคู่ไปกับปฏิบัติการสะพานลอนดอน นั่นก็คือ ‘ปฏิบัติการสปริงไทด์’ (Operation Spring Tide) หรือแผนปฏิบัติการเตรียมการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ หลังการสวรรคตของพระราชินีนาถ
ที่มาของชื่อปฏิบัติการสปริงไทด์ มาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์น้ำเกิด’ (Spring Tides) ที่หมายถึงน้ำขึ้นอันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลกจะมีผลสูงสุด ทำให้เกิดน้ำขึ้น สูงสุดเดือนละ 2 ครั้งในช่วงคืนเดือนเพ็ญ (Full Moon) และคืนเดือนมืด (New Moon) ซึ่งจุดที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุดจะถูกเรียกว่า ‘King Tide’
รัฐสภาจะจัดให้มีการประชุม ‘สภาสืบราชย์’ (Accession Council) ซึ่งประกอบไปด้วยองคมนตรี สมาชิกสภา นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษและเครือจักรภพ ซึ่งคณะบุคคลเหล่านี้ไม่มีจำนวนที่ตายตัว ในหลายครั้งพบว่าอาจมีบุคคลสำคัญในองค์ประชุมมากถึง 700 คน แต่ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ บุคคลสำคัญอาจเข้าร่วมองค์ประชุมน้อยกว่าก็ได้ เพื่อไม่ให้บัลลังก์ว่างเว้นนานเกินไป ในคราวที่สภาสืบราชย์ประชุมเพื่อเถลิงราชย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1952 มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุมราว 200 คน
ตามธรรมเนียมแล้ว กษัตริย์พระองค์ใหม่จะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการนี้ ณ ที่นั้น ประธานองคมนตรีจะได้อ่านประกาศการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์ก่อน และประกาศการขึ้นครองราชย์ สภาสืบราชย์จะมีพิธีการเฉลิมพระนาม (Proclamations) เพื่อประกาศเถลิงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ในฐานะรัชทายาทลำดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ (St. James’s Palace) จากนั้นประธานองคมนตรีจะเป็นตัวแทนเพื่อกล่าวคำสรรเสริญ และถวายคำสัตย์ว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่
หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร’ (King Charles III) ขึ้นครองราชย์สืบบัลลังก์ต่อไป โดยเป็นการคัดเลือกหนึ่งในชื่อจากพระนามเต็ม ‘ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ’ (Charles Philip Arthur George) นายกรัฐมนตรี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ผู้นำศาสนจักรแห่งอังกฤษ และประธานสภาขุนนาง จะลงนามรับรองคำประกาศการขึ้นครองราชย์ ถือเป็นการเริ่มต้นประกาศรัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ และจะมีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสา 24 ชั่วโมง ก่อนกลับมาลดธงลงครึ่งเสาอีกครั้ง
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะกล่าวพระปฐมบรมราชโองการเพื่อประกาศการสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในฐานะกษัตริย์ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยจะกล่าวประโยคว่า ‘God Save the King’ (ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักพระราชา) ซึ่งนี่จะถือว่าเป็นครั้งแรกที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักร จะได้มีการเปลี่ยนจากคำว่า King หลังจากที่มีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า Queen มาอย่างยาวนานถึง 70 ปี
ในช่วงวาระการไว้ทุกข์ตลอด 10 วัน รัฐบาลอังกฤษไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับให้มีการปิดสถานบันเทิง หรือสั่งหยุดการจัดการแข่งขันกีฬาแต่อย่างใด การปิดทำการเพื่อการแสดงความไว้อาลัย ขอให้เป็นไปตามแต่ดุลยพินิจของแต่ละองค์กร
D+2
: ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn)
เนื่องจากในครั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักบัลมอรัล (Balmoral Castle) ในประเทศสกอตแลนด์ ที่พระองค์ได้เสด็จมาทรงประทับในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีตามธรรมเนียม ซึ่งอยู่นอกดินแดนอังกฤษ จึงมีการเรียกขานปฏิบัติการย่อยนี้ว่า ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) ซึ่งมีที่มาจากยูนิคอร์นที่เป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์ ที่มีตราแผ่นดินร่วมกับสิงโตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ
ในปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) มีการเตรียมการเคลื่อนหีบพระศพเอาไว้ล่วงหน้าหลายเส้นทางและหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสมเด็จพระราชินีนาถสเด็จสวรรคต ณ แห่งใด ในกรณีนี้ พระองค์เสด็จสวรรคต ณ ประเทศสกอตแลนด์ ศูนย์กลางของปฏิบัติการยูนิคอร์นนี้จึงอยู่ที่พระราชวังฮอลีรูด (Holyroodhouse) เมืองเอดินบะระ หีบพระศพจะเคลื่อนออกจากพระตำหนักบัลมอรัล ไปประทับอยู่ในห้องบอลรูมของวังฮอลีรูด ซึ่งเป็นห้องที่มีความสำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
เนื่องจากหีบพระบรมศพตั้งอยู่ในแผ่นดินสกอตแลนด์ รัฐสภาสกอตแลนด์จะประกาศข่าวแสดงความเสียใจต่อประชาชน ณ ที่นั้นภายใน 72 ชั่วโมง และจะมีการงดกิจกรรมธุระต่าง ๆ ในรัฐสภาอย่างน้อย 6 วัน เพื่อจัดเตรียมงานพระราชพิธีพระศพต่อไป
ขบวนหีบพระศพของสมเด็จพระราชินีนาถจะเคลื่อนจากห้องบอลรูมของพระราชวังฮอลีรูด ไปตามถนนรอยัลไมล์ (Royal Mile) ซึ่งเป็นถนนเส้นสำคัญสำหรับประกอบพิธีของราชวงศ์ เพื่อนำหีบพระศพไปประทับ ณ มหาวิหารเซนต์ไจลส์ (St Giles’ Cathedral) เพื่อให้ประชาชนชาวสกอตแลนด์ได้เข้าถวายสักการะ
แต่หากสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต ณ ต่างประเทศ แผนฉุกเฉินนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ปฏิบัติการโอเวอร์สตัดดี’ (Operation Overstudy) โดยหีบพระศพจะถูกขนส่งทางเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับมายังประเทศอังกฤษ โดยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และพระบรมวงศานุวงศ์รอรับพระศพ
หลังจากนั้น จะมีขบวนเคลื่อนหีบพระศพไปประทับยังพระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ด้วยขบวนรถไฟหลวง (Royal Train) ที่สถานีเวฟเวอร์ลีย์ (Waverley) เมืองเอดินบะระ หรือทางเครื่องบิน
D+3
ในช่วงเช้า สมาชิกรัฐสภา และและสภาขุนนาง จะเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อถวายความอาลัย ณ เวสต์มินเตอร์ ฮอลล์ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster)
หลังจากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จไปทั่วสหราชอาณาจักร โดยเริ่มต้นจากการไปเยือนรัฐสภาของสกอตแลนด์
D+4
: ‘ปฏิบัติการราชสีห์’ (Operation Lion)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จไปยังประเทศในสหราชอาณาจักร ในวันนี้ พระองค์จะเสด็จไปยังปราสาทฮิลส์โบโร (Hillsborough Castle) ในไอร์แลนด์เหนือ และเสด็จไปยังกรุงเบลฟาสต์ (Belfast) เพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์แอนน์ (St. Anne’s Cathedral)
ในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานจะได้เริ่มเข้าสู่ ‘ปฏิบัติการาชสีห์’ (Operation Lion) ซึ่งหมายถึงแผนการซ้อมพระราชพิธีพระศพ การซ้อมเคลื่อนขบวนหีบพระศพจากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังอาคารรัฐสภาที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์
D+5
ขบวนพระศพจะเคลื่อนจากพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อย้ายไปประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา หรือ เวสต์มินเตอร์ ฮอลล์ (Westminster Hall) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน โดยใช้เส้นทางสำคัญสำหรับพระราชพิธี เมื่อหีบพระบรมศพมาถึง จะมีการประกอบพิธีมิสซา และจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะเป็นเวลา 4 วัน
D+6 – D+9
: ‘ปฏิบัติการขนนก’ (Operation Feather)
พระศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะประทับอยู่ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นเวลา 3 วัน โดยจะประทับอยู่บนจิตกาธาน (Catafalque) ซึ่งเป็นแท่นยกสูงที่ตั้งอยู่กลางเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ โดยมีทหารรักษาพระองค์ยืนคุ้มกันในแต่ละมุม จะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาสักการะพระศพวันละ 23 ชั่วโมง และจะมีการจำหน่ายบัตร VIP ในบางช่วงเวลา
หีบพระศพที่ประทับอยู่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์ จะถูกคลุมด้วยธงตราประจำพระราชวงศ์ และประดับด้วยมงกุฏ ลูกโลกทองประดับกางเขน และคฑา อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำพระองค์
ในการนี้ เจ้าพนักงานจะได้เริ่มปฏิบัติการย่อยที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการขนนก’ (Operation Feather) ในการจัดการพิธีการเตรียมการให้ประชาชนเข้าสักการะพระศพ รวมทั้งการจัดการขนส่งนอกเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะมีการติดตั้งจอภาพขนาดใหญ่กลางสวนสาธารณะเซนต์ เจมส์ ให้ประชาชนได้รับชมพิธีด้วย
D+6
รัฐจะจัดให้มีการซ้อมพิธีพระศพ
D+7
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์ เพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซาที่วิหารลันดาฟฟ์ (Llandaff Cathedral) ในกรุงคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) และรับสาสน์แสดงความเสียใจจากสภาแห่งเวลส์
ในระหว่างนี้ แม้จะยังไม่มีประกาศเรื่องรายละเอียดการให้เข้าสักการะพระศพออกมาอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องดำเนินการดูแลการจัดเตรียมพิธีการ การจัดการภายในพระราชพิธี รวมไปถึงด้านการบริการ และการเฝ้าแวดระวังตามแผนปฏิบัติการที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการกระโจม’ (Operation Marquee)
หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้จะมีอยู่ 3 กระทรวง คือ กระทรวงต่างประเทศ ที่ต้องรับหน้าที่เชิญผู้นำจากนานาประเทศ และบุคคลชั้นนำมาเข้าร่วมพิธี และยังต้องจัดการกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศในช่วงที่ยังมีโรคระบาดด้วย
กระทรวงมหาดไทยจะต้องรับผิดชอบในการจัดการด้านความปลอดภัย สำนักเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติ จะต้องมีความตื่นตัวในระดับสูง เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และกระทรวงคมนาคม ที่ต้องมีหน้าที่ดูแลด้านการจราจร และจัดระเบียบผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไปยังลอนดอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านคมนาคม และความแออัดของประชาชนที่มาร่วมในพิธีได้
สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คือ ผู้คนหลายแสนคนทั้งชาวอังกฤษและนักท่องเที่ยวจะแห่กันไปที่พระราชวัง จนทำให้กรุงลอนดอนเต็มไปด้วยผู้คนและรถราหนาแน่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของที่พักอาศัย ถนนหนทาง การขนส่งสาธารณะ อาหาร การรักษาพยาบาล และการบริการขั้นพื้นฐานอาจถึงขั้นวิกฤติได้ รวมทั้งประเด็นด้านการขาดแคลนเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมฝูงชนที่ยังน่าเป็นกังวลอยู่
โดยปกติแล้ว รัฐจะถือว่าวันงานพระศพจะถือเป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นวันหยุดธนาคาร แต่หากตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดธนาคาร จะไม่มีวันหยุดชดเชยเพิ่มเติม
D+9
วันสุดท้ายของการสักการะพระบรมศพ ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เหล่าผู้นำจากประเทศต่าง ๆ จะเริ่มเดินทางมาถึง เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีพระศพ
D+10
จะมีพิธีพระศพ ซึ่งเป็นรัฐพิธีที่จะจัดขึ้น ณ เวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ (Westminster Abbey) อารามหลวงเก่าแก่ที่ถูกใช้ในงานพิธีของราชสำนัก รวมทั้งพิธีอภิเสกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถ กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระในปี 1947 และพระราชพิธีราชาภิเษกในปี 1953 และพระราชพิธีพระศพ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ในปี 2021
ภายในพิธีจะมีแขกสำคัญ และแขกจากนานาประเทศเข้าร่วมในพิธีนี้ด้วย ในเวลาเที่ยง ทั่วประเทศจะสงบนิ่งเพื่อถวายความอาลัยเป็นเวลา 2 นาที
หลังจากนั้น จะจัดให้มีขบวนพระศพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน และพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลอนดอน โดยหีบพระศพจะประทับบนราชรถปืนใหญ่ (Gun Carriage) ของราชนาวี เคลื่อนผ่านประตูเวลลิงตัน ผ่านสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก มุ่งหน้าไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ซึ่งคาดว่า กษัตริย์และราชวงศ์อาวุโสจะร่วมเสด็จเดินขบวน ณ จัตุรัสพระราชวังวินด์เซอร์
ก่อนที่หีบพระศพจะเคลื่อนเข้าไปประทับยังวิหารเซนต์จอร์จ (St. George’s Chapel) หีบพระบรมศพจะประทับอยู่ภายในโถงประดิษฐานพระศพ (Royal Vault) ชั้นใต้ดินภายในวิหารเซนต์จอร์จ และคาดว่าจะมีการฝังในสถานที่ใกล้กับพระบรมศพของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ต่อไป
ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ (Operation Golden Orb)
หลังพิธีฝังพระศพเสร็จสิ้น หรือสิ้นสุดปฏิบัติการสะพานลอนดอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะมีการจัดพระราชพิธีใน 1 ปีหลังจากที่มีการขึ้นครองราชย์
ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ (Operation Golden Orb) โดยหลักแล้วจะเป็นการดำเนินการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องตามประเพณี เป็นการประกอบพิธีที่ยึดตามหลักของศาสนจักรตามธรรมเนียมของศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (Anglican) ให้มีความเรียบร้อยสมพระเกียรติ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ที่ถูกใช้จัดพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์มาอย่างยาวนานถึง 900 ปี
ในพระราชพิธีดังกล่าว จะมีพิธีสำคัญคือ การสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) โดยประธานในพิธี ได้แก่ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จะเป็นผู้สวมมงกุฎทองคำดังกล่าวนี้แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ เถลิงถวัลยราชสมบัติแห่งราชวงศ์สืบต่อไป
ซึ่งจะรวมไปถึงการเฉลิมพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ พระชายาคามิลา ดัชเชสแห่งคอนวอลล์ (Camilla, Duchess of Cornwall) พระชายาของพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (Prince William Duke of Cambridge) ที่ในบัดนี้ทรงครองฐานันดรศักดิ์ในฐานะ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (Duke of Cornwall) แทนที่พระราชบิดาจะได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร หรือ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ในภายหลัง ส่วนพระชายาแคเธอรีน (Catherine, Duchess of Cambridge) จะได้เลื่อนขึ้นเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (Duchess of Cornwall) แทนที่พระชายาคามิลาด้วยเช่นกัน
โดยรายละเอียดขั้นตอนปฏิบัติและพิธีการต่าง ๆ ในขณะนี้ยังคงเป็นความลับ
ที่มา : BBC, Politico, WalesOnline, New York Post, The Guardian, NewsWeek, The Independent, Daily Mail, Wikiprdia, Insider, BBC ไทย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส