สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัด ‘พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2565’ เนื่องใน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นวัตกรไทยผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันโดดเด่น และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’
โดยในปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 821 ผลงาน และผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 52 ผลงาน ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาร่วมแสดงความยินดีและปาฐกถาพิเศษ ‘ศาสตร์ของพระราชาและการพัฒนานวัตกรรม’
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “การจัดงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565’ นี้ ถือเป็นโอกาสแห่งการประกาศความสำเร็จของวงการนวัตกรรมไทย พร้อมทั้งเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ในฐานะ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ ทั้งนี้ NIA ได้ดำเนินการจัดงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ และ ‘พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม’ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมไทย โดยอาศัยการสร้างและเพิ่มจำนวน ‘นวัตกร’ และ ‘องค์กรนวัตกรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ในฐานะ ‘ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)’ ต้องขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม’ ที่พร้อมเติบโต และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยตั้งเป้าหมายในการนำประเทศไทยก้าวสู่ท็อป 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ GII ภายในปี 2573 ซึ่งจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจของประเทศไปสู่ประเทศที่แข่งขันด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้ รวมถึงเร่งส่งเสริมและสนับสนุนพลังของความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม หรือ Soft power ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อผลักดันการสร้างอัตลักษณ์และแบรนดิ้งนวัตกรรมไทยไปสู่สากล”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2565 นี้ มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 821 ผลงาน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านสื่อและการสื่อสาร และด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 504 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และ
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย โดย NIA ร่วมจัดกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับเยาวชนในการพัฒนาผลงานให้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม ประกอบด้วย 2 ระดับการแข่งขัน ได้แก่ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. และระดับมัธยมศึกษา หรือ ปวช. มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 317 ผลงาน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2565
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: บริการคลังสินค้าออนไลน์เพื่อพ่อค้าแม่ค้า โดย บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ผลงาน: ทรายแมวมันสำปะหลัง โดย บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: ถุงมือพาร์กินสัน โดย บริษัท ฮิวแมนมูฟเมนท์ จํากัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: เทคโนโลยีการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: นอนนอน โดย บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: เต่าบินโรโบติกบาริสต้า โดย บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: ระบบโทรเวชกรรมวชิรพยาบาล โดยแอพพลิเคชั่นวชิระแอทโฮม โดย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสื่อและการสื่อสาร
- รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: โครงการพัฒนาอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ โดย สมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี
- รางวัลประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์
- รางวัลประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด
6) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา และ ปวช. ได้แก่ ผลงาน: O-RA ผู้ช่วยป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม โดย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย