ผลวิจัยใหม่ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารรายงานความผิดปกติทางอารมณ์ (Journal of Affective Disorders Reports) เปิดเผยว่าคนหนุ่มสาวที่ใช้โซเชียลมีเดียเกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มอย่างมากที่จะพัฒนาภาวะซึมเศร้าขึ้นมา ถึงแม้ว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียแบบนี้แทบจะเป็นเรื่องปกติในสมัยนี้ก็ตาม
ไบรอัน ไพรแม็ก (Bryan Primack) นักวิจัยและหนึ่งในผู้เขียนรายงานได้สำรวจขาวอเมริกันอายุระหว่าง 18 – 30 ปี จำนวน 1,000 คน โดยมีตัวแปรด้านบุคลิกภาพอยู่ห้าแบบคือ ความเปิดกว้าง ความกล้าแสดงออก ความเข้าใจคนอื่น และความวิตกกังวล พบว่าผู้เข้าร่วมที่มีบุคลิกด้านความวิตกกัลวลสูงมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้อื่น อย่างไรก็ตามคนที่มีบุคลิกตรงกันข้ามอย่างการเปิดกว้างก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าเช่นกันเมื่อเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไป
ใจความสำคัญของเหตุการณ์นี้มาจากพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘การเปรียบเทียบทางสังคม’ (Problematic Social Comparison) หรือพฤติกรรมการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตคนอื่นที่แสนน่าอิจฉาบนโซเชียลมีเดียแล้วพาลรู้สึกแย่กับตัวเองไปด้วย
พฤติกรรมแบบนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะการเสพคอนเทนต์ที่เป็นด้านลบโดยตรงก็จะยิ่งทวีคูณความรู้สึกนี้เข้าไปอีก นอกจากนี้ การเล่นโซเชียลมีเดียยังทำให้เจอกับผู้คนและทำกิจกรรมแบบตัวต่อตัวน้อยลง ก่อให้เกิดความเหงาและโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเกิดภาวะซึมเศร้า จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปสามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้สูง
วิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ นอกจากจะทำได้โดยการลดการเล่นโซเชียลมีเดียลงแล้ว เรายังควรจัดการกับความรู้สึกของตัวเองเวลาเล่นให้ดี และระลึกอยู่เสมอว่ามันก่อให้เกิดผลร้ายกับเราได้ ไม่เช่นนั้นพฤติกรรมเล็ก ๆ แบบนี้อาจทำร้ายตัวเราเองและคนรอบข้างในอนาคต
ที่มา: Futurism
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส