สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หมู่บ้านโมเทรา (Modhera) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ได้รับงบประมาณ 10 ล้านเหรียญ (ราว 377 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์กว่า 1,300 แผ่น บนหลังคาบ้านของประชาชน และอาคารสำนักงานของรัฐ
เคซา ภาย ปาจาปาตี (Kesa Bhai Prajapati) ช่างปั้นเครื่องดินเผา ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เปิดเผยว่า เขาสามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า ตั้งแต่มีแผงโซลาร์ไว้ใช้งาน เนื่องจากเขาสามารถใช้เครื่องจักรหมุนขึ้นรูปเครื่องดินเผาได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟฟ้า
ปาจาปาตีระบุว่า ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่ได้รับประโยชน์จากแผงโซลาร์ เพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ในโมเทรา ซึ่งมีมากกว่า 6,500 คน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพช่างปั้นเครื่องดินเผา, ช่างตัดเสื้อ และช่างทำรองเท้า ซึ่งทุกคนต้องการไฟฟ้าไว้ใช้งานและประกอบอาชีพ แต่พวกเขายากจนเกินกว่าจะมีเงินเพียงพอในการจ่ายค่าไฟฟ้าได้ ดังนั้น การมีแผงโซลาร์นอกจากจะช่วยให้พวกเขามีไฟฟ้าใช้แล้ว ยังช่วยส่งเสริมอาชีพของคนในหมู่บ้านให้ดีขึ้นอีกด้วย
รีนา เบน (Reena Ben) แม่บ้านเต็มเวลา ซึ่งมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเสื้อ กล่าวว่า เธอสามารถตัดเสื้อได้เพิ่มขึ้นจากวันละ 1 ตัว เป็น 2 ตัว ด้วยการลงทุนเงิน 24 เหรียญ (ราว 900 บาท) ไปซื้อมอเตอร์ไฟฟ้ามาติดตั้งเข้ากับจักรเย็บผ้า
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ชาวบ้านผลิตได้จากแผงโซลาร์ หากพวกเขาไม่ต้องการใช้งาน หรือผลิตได้มากเกินความต้องการในครัวเรือน
ปวีณ ภาย (Praveen Bhai) ช่างตัดเสื้อในหมู่บ้านโมเทรา ระบุว่า เขานำเงินที่ได้จากการขายไฟฟ้าให้รัฐบาลไปซื้อเตาแก๊สสำหรับทำอาหาร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต้องใช้ฟืนในการประกอบอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดควันและมลพิษจำนวนมาก
นอกจากนี้ ภายยังระบุอีกว่า ตอนนี้เขาสามารถสอนการบ้านให้ลูกหลานภายในบ้านของตัวเองได้แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงสว่างจากข้างถนนอีกต่อไป
ทั้งนี้ อินเดีย เป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เป็นจำนวน 50% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศภายในปี 2030
ที่มา : Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส