ปัจจุบันมนุษย์มีความเสี่ยงอยู่มากมาย ในการใช้ชีวิตแต่ละวันทั้งเรื่องฝุ่นมลภาวะต่าง ๆ ที่เราน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วยังมีเรื่องเสียงเป็นภัยที่หลายคนอาจไม่ทราบ ผลการศึกษาที่นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้คนหนุ่มสาวระมัดระวังเกี่ยวกับนิสัยการฟังมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้รัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงให้ช่วยปกป้องการได้ยินของประชาชนในอนาคต
ผลวิจัยศึกษากว่า 33 ชิ้น กับคนอายุระหว่าง 12-34 ปี เกือบ 20,000 คน พบว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เยาวชน 24% มีพฤติกรรมการฟังที่ไม่ปลอดภัยขณะใช้หูฟังกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น สมาร์ตโฟนและพบว่า 48% ได้รับเสียงในระดับที่ไม่ปลอดภัยในสถานบันเทิง เช่น คอนเสิร์ตหรือผับ ผลการศึกษาประเมินว่าคนหนุ่มสาวระหว่าง 670,000 ถึง 1,350 ล้านคนอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
ลอเรน ดิลลาร์ด (Lauren Dillard) ที่ปรึกษา WHO และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจดูสูงมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนหนุ่มสาวบางคนอาจมีความเสี่ยงจาก 2 แบบ วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากหูฟัง
- การลดระดับเสียงลงและฟังเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- ผู้ใช้หูฟังควรใช้การตั้งค่า หรือแอปบนสมาร์ตโฟนเพื่อตรวจสอบระดับเสียง
- ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หูฟังที่มีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
- ควรสวมที่อุดหูในงานที่มีเสียงดัง เช่น คอนเสิร์ตหรือผับ
นอกจากนี้ ลอเรน ดิลลาร์ดยังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการฟังอย่างปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบสถานที่และจำกัดระดับเสียงดนตรีและเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์ เช่น สมาร์ตโฟน ออกฟีเจอร์เพื่อเตือนผู้ฟังเมื่อเปิดเสียงดังเกินไป รวมถึงระบบล็อกสำหรับผู้ปกครองเพื่อจำกัดการใช้งานของบุตรหลาน
ปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 430 ล้านคน หรือกว่า 5% ของประชากรโลกสูญเสียการได้ยินตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประเมินว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคนภายในปี 2050
ที่มา japantoday
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส