1 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มีการประชุมสัมมนา “Forum for World Education 2022” ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” (Shaping The Future of Education To Match Global Economic Trends) ขึ้น โดยสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และโรงเรียนนานาชาติคองคอร์เดียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้เชิญผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุมพร้อมกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 400 คน เพื่อระดมความเห็นในการออกแบบรูปแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในทุกประเทศทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา เตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ให้แข็งแกร่ง สร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกยุค 5.0 ต่อไป
ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษา พร้อมผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม อาทิ ดร.เฉิง เยี่ยน เดวิส (Dr. Cheng Yan Davis) ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการ FWE นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. ดร.ตัน ซี เล็ง (Dr.Tan See Leng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์, นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ, มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ (Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD มร.ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก, มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน ดร.อิโนเอะ มิสึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru) กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก และ มร.ลี ไค เฉิน (Mr.Li Kai Chen) หุ้นส่วนอาวุโสและหุ้นส่วนผู้จัดการแมคเคนซี่
ดร.เฉิง เยี่ยน เดวิส (Dr. Cheng Yan Davis) ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก Forum for World Education (FWE) กล่าวว่า FWE ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี เป็นเวทีของนักธุรกิจที่เชื่อมั่นในพลังของการศึกษาที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปได้ โดยวันนี้เราได้เรียนเชิญผู้นำทางการศึกษาทั่วโลก มาให้ความรู้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายในการมองอนาคตข้างหน้าร่วมกัน
“FWE จะสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยต่างๆทุกทาง เพราะเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะทำให้ธุรกิจมีการขับเคลื่อนไปได้ วันนี้เราได้ผ่านวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว จึงอยากจะให้ทุกคนใช้พลังของการศึกษา ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคต ขับเคลื่อนธุรกิจและนำพาโลกให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน”
ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การพัฒนาประเทศในยุคนี้ต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาการแผนใหม่ โดยในส่วนของอุดมศึกษาไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการปฏิรูปในหลายด้าน โดยเปิดโอกาสให้ภาคสังคมและธุรกิจเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายด้านการศึกษา เพื่อข้ามข้อจำกัดต่างๆ ให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษา
“เราจะจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างไร ให้เด็กๆ สนุกและมีรายได้ตั้งแต่วันแรกที่เรียน เรียนไปด้วยมีงานทำไปด้วย ทำอย่างไรสามารถเรียนจบภายใน 2-3 ปี ทำอย่างไรให้เด็กเรียน 2 ปี แต่มีความรู้เท่ากับเรียน 4 ปี ต้องทำให้เด็กเห็นความสำคัญของความรู้ สามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติและนำไปสู่รายได้ และจะต้องไม่แยกการศึกษาออกจากการทำงาน ซึ่งต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้น”
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า หัวข้อที่สำคัญของการประชุมในวันนี้คือการศึกษาและการสร้างคน ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้เท่าไรขึ้นอยู่กับการศึกษา ซึ่งการศึกษาก็คือการพัฒนาคน องค์กรที่ยิ่งใหญ่ถ้าไม่สร้างผู้นำที่มีความรู้ในหลายๆ เรื่องก็จะไม่มีคำว่า CEO ในอดีตเรามักสร้างคนให้มีความรู้แบบไซโลเพราะกลัวการถูกซื้อตัวไป แต่ซีพีเราใช้คำพูดเก่าเอามาใช้กับยุคใหม่คือเรากำลังสร้างเถ้าแก่ เพราะเถ้าแก่ต้องรู้ทุกเรื่องกำไร บัญชี ขาดทุน บุคคล ประชาสัมพันธ์ฯลฯ แล้วไม่กลัวว่าเขาจะออกจากเราไปที่อื่น เพราะถือว่าเราได้สร้างคนให้กับสังคมและประเทศชาติซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“ถ้าเราจะสร้างคนให้เป็นผู้นำ เราจะต้องสร้างผู้นำที่มีความกตัญญู รู้จักการให้ รู้จักเรียนรู้ รู้จักเสียเปรียบ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจะไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดีได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มี 6 ค่านิยมที่สำคัญคือ 3 ประโยชน์ นวัตกรรม เร็วและมีคุณภาพ ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความกตัญญู กตัญญูเป็นอันดับหนึ่ง จะเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดี รู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน กตัญญูกับพ่อแม่ รักครอบครัว รักองค์กรบริษัท รักพนักงาน เขาจึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้” ดร.ตัน ซี เล็ง (Dr.Tan See Leng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าการประชุม FWE ในวันนี้เป็นการเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์โลกที่ซับซ้อนและผันผวนมากขึ้น ประเทศสิงคโปร์เน้นการพัฒนากำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย เน้นการพัฒนาค่านิยมและขีดความสามารถของศตวรรษที่ 21 ความคิดเชิงวิพากษ์ ความรู้เรื่องโลก ทักษะและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ตรงประเด็นอย่างมาก
“ปัญหา Covid-19 ทำให้เราเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทำให้กำลังคนของเราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่สิงคโปร์เดินหน้าลงทุนในเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือคนที่ต้องถูกออกจากงานให้ได้มากที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาไม่ย่อท้อ มีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงมีโปรแกรมเสริมทักษะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปร่วมกันในอนาคต”
มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ (Mr.Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD กล่าวว่า จากการศึกษาระบบและผลลัพธ์ของการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งเด็กและครูจะส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของผู้เรียน ถ้าเด็กนักเรียนไม่กลัวที่จะผิดพลาด กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะเสี่ยง ก็จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งถ้าระบบการศึกษาไม่เอื้อในการสร้างภาวะแวดล้อมเช่นนี้ให้เกิด จะไม่สามารถสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องอะไรได้เลย ดังนั้นทัศนคติในการเรียนรู้จึงมีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
“เราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าให้เขาได้เจอเส้นทางของเขา เพราะถ้าเราให้การศึกษาที่เป็นทั้งวิชาการและวิชาชีพ เด็กแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสสำรวจ ค้นหาความเก่ง ความถนัดของตัวเอง พวกเขาก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน นอกจากนี้ครูยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กสามารถเกิดเรียนรู้ และทำให้มีระบบการศึกษาที่แข็งแรง แต่ปัญหาและความท้าทายคือเรามีครูที่มีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอ ทำอย่างไรที่จะทำให้ครูสมัยใหม่เป็นครูที่เป็นมากกว่าครู เป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้ส่งเสริมที่ดี ทำอย่างไรให้ได้คนเก่ง คนดี ได้มาเป็นครูในระบบให้มากขึ้น ทำอย่างไรที่แต่ละประเทศจะลงทุนในตัวครูให้ถูกด้าน ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญของการศึกษาในช่วงทศวรรษ 21”
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงาน “Forum for World Education 2022” ครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาในยุคใหม่อย่างมาก เพราะได้เรียนรู้และสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ และนักวิชาการที่มาจากหลายประเทศได้นำระบบการศึกษาที่เป็น Best Practice ได้มาแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ออกแบบระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในโลกยุค 5.0
นอกจากนี้ในการประชุม ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังกล่าวถึงระบบการศึกษาและธุรกิจในโลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบบการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยน ต้องพยายามสร้างคนให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าการเรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย เพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาสำคัญไม่แพ้ใบปริญญา
“วันนี้เรื่องใหม่ ๆ เราต้องให้คนรุ่นใหม่ทำ ไม่ต้องกลัวทำผิด ผิดคือครูถือเป็นค่าเล่าเรียน ถ้าเรื่องธุรกิจเด็กสมัยนี้เค้าฉลาดกว่ายุคของเรา ซึ่งในยุคก่อนต้องอายุมากกว่า 50 ถึงจะขึ้นเป็นผู้นำได้ แต่ยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ระบบการศึกษาวันนี้เด็กอายุ 18 ปี ควรจะต้องจบมหาวิทยาลัยได้แล้ว เพราะเด็กในวัยนี้พวกเขามีพลังมหาศาล อย่าเอาพลังของเขาไปขังไว้ในโรงเรียน เราอยู่ในยุคของคนแก่ดังนั้นจึงต้องสร้างคนพัฒนาคนออกมาทำงานให้เร็วที่สุด วันนี้แค่เรียนอย่างเดียวไม่พอต้องทำงานไปด้วย ปริญญากับปัญญาแตกต่างกัน ปัญญาเกิดจากการลงมือทำ อดทน ล้มเหลว เรียนรู้ แต่ปริญญาเป็นเรื่องของความจำ ดังนั้นปัญญาจึงมีความสำคัญ เริ่มทำให้เร็ว กล้าที่จะลองผิดลองถูก โดยมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ ชี้แนะได้แต่ห้ามชี้นำ ตัวขององค์กรเองก็ต้องปรับตัว ลดขั้นตอน ลดขนาดไซโลและลำดับขั้น ยุคสมัยนี้องค์กรต้องแบนลง และในขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้ Software เข้ามาติดตามให้รู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทุกวัน ซึ่งยุคนี้เป็นยุคสมัยที่ต้องเร็วและต้องมีคุณภาพ และต้องทำของยากให้เป็นของง่าย” นายธนินท์ เจียรวนนท์ ระบุ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส