วันที่ 2 ธันวาคม 2565 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) แจ้งขอปรับขึ้นค่าโดยสารว่า กทม. ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก
ประกอบกับ BTSC ยังมีรายได้ทางอื่น นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารเพื่อมาชดเชย เช่น รายได้จากการประกอบพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว, รายได้จากการโฆษณา, รายได้จากการอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับสถานี และอาคารบุคคลภายนอก ซึ่งรายได้ดังกล่าว สามารถนำมาช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากการดำเนินงานของ BTSC ได้
ทาง กทม. จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้ BTSC ทบทวน และชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บออกไปก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ BTSC ได้แจ้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นการขอปรับขึ้น “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนระหว่าง กทม. กับ BTSC (สัญญาสัมปทานฯ) ข้อ 13.2 ได้ระบุว่า “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” จะต้องไม่เกินไปกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้
ซึ่ง BTSC จะต้องแจ้งให้ กทม. และประชาชนทั่วไปทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงค่าโดยสารที่เรียกเก็บล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันที่ค่าโดยสารใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2565 อยู่ที่ 21.52 – 64.53 บาท
อนึ่ง BTSC ได้เคยมีหนังสือแจ้ง กทม. เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 16 – 44 บาทเป็น 17 – 47 บาท ซึ่งการขอปรับค่าโดยสารดังกล่าวไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุด แต่ กทม. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ขอให้ BTSC ชะลอการปรับค่าโดยสารออกไปก่อน โดยขอให้บริษัทฯ คำนึงถึงความเดือดร้อน และภาระของประชาชนโดยรวม รวมถึงการขอให้ชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็นในการขอปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บ
ต่อมา BTSC ได้มีหนังสือแจ้ง กทม. อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 เพื่อชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็นว่า BTSC มีรายจ่ายจากการดำเนินโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น และได้หารือกับผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (กองทุนฯ) และมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน BTSC จึงยินดีที่จะชะลอการปรับ “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ไปจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และจะบังคับใช้อัตรา “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งค่าโดยสารใหม่ที่จะเรียกเก็บนั้นอยู่ในอัตรา 17 – 47 บาท ซึ่งไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ตามสัญญาสัมปทาน