ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพของเครปญี่ปุ่นที่ถูกใส่มาในกระดาษที่ถูกพิมพ์ลายเป็นบรรจุภัณฑ์ของชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ส่งผลให้เป็นที่ถกเถียงในโซเชียลมีเดียอย่างมากว่า บรรจุภัณฑ์ของชุดตรวจ ATK ดังกล่าวผ่านการใช้งานมาแล้วหรือไม่ รวมถึงความเหมาะสมของการนำแพ็กเกจดังกล่าวมาใช้ในการบรรจุอาหาร
จากการสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านงานพิมพ์ ทีมงาน beartai ได้รับคำตอบว่า บรรจุภัณฑ์ของชุดตรวจ ATK ดังกล่าวน่าจะยังไม่ผ่านการใช้งาน เนื่องจากลักษณะของกระดาษยังไม่ผ่านการพับเพื่อขึ้นรูปเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ จุดสังเกตอีกข้อที่สามารถบ่งบอกได้ว่า บรรจุภัณฑ์ยังไม่ผ่านการใช้งาน คือ ร่องรอยการเจาะรูปที่ด้านหลังของกระดาษ (ร่องรอยจากโพสต์ดังกล่าวเป็นรูปช้าง) ซึ่งมีลักษณะแบนราบ สอดคล้องกับขั้นตอนในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่จะพิมพ์ลงบนม้วนกระดาษยาว ๆ ก่อนจะถูกตัดย่อย เพื่อนำมาพับขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ในขั้นตอนต่อไป
แต่คำถามที่หลายคนสงสัย คือ ทำไมกล่องชุดตรวจ ATK จึงถูกนำมาใส่อาหาร?
คำตอบก็คือเพื่อเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการนั่นเอง โดยกระดาษที่ถูกพิมพ์ออกมา เพื่อเตรียมทำเป็นบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ มักเป็นกระดาษที่ไม่ผ่าน QC ของโรงงาน เช่น สีตก หรือมีการปรับรูปแบบลายพิมพ์ เป็นต้น โดยกระดาษเหล่านี้จะออกสู่ท้องตลาดผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมักเข้าไปซื้อกระดาษเหลือจากโรงพิมพ์ เนื่องจากมีราคาถูกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระดาษเหล่านั้นจะยังไม่ผ่านการใช้งาน แต่ในฐานะของการเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารก็ควรมีเครื่องหมายที่ยืนยันได้ว่า บรรจุภัณฑ์นั้น ๆ ถูกสุขลักษณะ ไม่ควรมีเครื่องหมาย หรือลวดลายใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ว่า อาหารที่ถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ อาจมีการปนเปื้อน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส