เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประกวด Miss Universe ครั้งที่ 71 ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนี้มงกุฎนางงามจักรวาลตกเป็นของ ‘อาร์บอนนีย์ กาเบรียล’ (R’Bonney Gabriel) สาวงามลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อเมริกัน วัย 28 ปี ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา ที่สามารถตอบคำถามได้ชนะใจกรรมการที่สุด
แต่คุณรู้หรือไม่? ว่าก่อนที่เวที Miss Universe ในปัจจุบันจะหันมาขับเคี่ยวกันด้วยความงาม สติปัญญา ไหวพริบ และแคมเปญเพื่อการขับเคลื่อนสังคมแล้ว จุดเริ่มต้นของเวทีนี้ คือ แคมเปญขายชุดว่ายน้ำ
‘ชุดว่ายน้ำ’ จุดกำเนิดเวที Miss Universe
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1952 (พ.ศ. 2495) การประกวด Miss Universe จึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการประกวดในปีนี้ มีสาวงามเข้าร่วมทั้งสิ้น 30 คนจากทั่วโลก และผู้ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลคนแรก คือ อาร์มี คูเซลา (Armi Kuusela) วัย 17 ปี จากประเทศฟินแลนด์
การประกวดในครั้งนี้จัดขึ้นโดยบริษัทสิ่งทอสัญชาติอเมริกันชื่อว่า ‘แปซิฟิกมิลส์’ (Pacific Mills) เพื่อโปรโมตชุดว่ายน้ำของบริษัทฯ ในชื่อแบรนด์ ‘คาทาลินา’ (Catalina) เนื่องจาก โยลันดา เบตเบซ (Yolanda Betbeze) เจ้าของสายสะพาย Miss America ปี 1951 ซึ่งแปซิฟิกมิลส์เป็นสปอนเซอร์ให้เวทีการประกวดมาอย่างยาวนาน ปฏิเสธที่จะสวมชุดว่ายน้ำของคาทาลินาในการถ่ายรูปโปรโมตสินค้า
ด้วยสาเหตุนี้เอง แปซิฟิกมิลส์จึงตัดสินใจ ‘เล่นใหญ่’ เพื่อโปรโมตชุดว่ายน้ำแบรนด์ดังกล่าว ด้วยการจัดการประกวด Miss Universe ขึ้น ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่แคมเปญ ‘ใหม่เอี่ยม’ แต่อย่างใด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการจัดงานประกวดรูปแบบดังกล่าวมาแล้ว แต่มีจุดประสงค์เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว
แม้ว่าจะไม่ใช่แคมเปญใหม่เอี่ยม แต่ก็ถือได้ว่า แปซิฟิกมิลส์เป็น ‘คนแรก’ ที่ทำให้การประกวดนางงามกลายเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ทั้งการโปรโมตสินค้าโดยการให้ผู้เข้าประกวดสวมชุดว่ายน้ำเดินบนเวที, การไปโชว์ตัวในแผนกชุดว่ายน้ำของห้างสรรพสินค้าที่มีแบรนด์คาทาลินาวางขาย และท้ายที่สุดเมื่อได้ผู้ชนะ ก็สามารถต่อยอดไปรองรับแคมเปญเสื้อผ้าอื่น ๆ ในเครือของบริษัทฯ ได้อีก นับว่าเป็นแคมเปญสุดยิ่งใหญ่ที่คิดมาครบสำหรับธุรกิจเสื้อผ้าจริง ๆ
เจ้าของเปลี่ยน นางงามก็ต้องเปลี่ยน
การประกวด Miss Universe ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดในปี 1955 หลังจากที่ช่อง CBS ของสหรัฐฯ นำเทปบันทึกการประกวดไปออกอากาศ และเริ่มมีผู้เข้าประกวดจากหลากหลายชาติมากขึ้น โดยในปี 1959 โลกก็มีนางงามจักรวาลคนแรกจากภูมิภาคเอเชีย คือ อากิโกะ โคจิมา (Akiko Kojima) ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาในปี 1960 ถือได้ว่าการประกวด Miss Universe เริ่มเดินทางมาถึงจุดที่เราหลายคนเริ่มคุ้นเคย คือ มีการประกวดชุดประจำชาติ (National Costume) และมีรอบตอบคำถามเป็นครั้งแรก ความเปลี่ยนแปลงนี้นับว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว เพราะนอกจากการประกวดชุดประจำชาติจะช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้กับการประกวดแล้ว การถามคำถามเพื่อทดสอบไหวพริบของสาวงามก็ชวนให้ลุ้นและน่าติดตามไม่น้อย ซึ่งความสำเร็จด้านคะแนนนิยมนี้ กลายเป็นรากฐานของการประกวดนางงามในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว
ในเมื่อการประกวดนางงามเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ย่อมหมายความว่ามันสามารถซื้อ – ขาย และเปลี่ยนมือเจ้าของเวทีได้ และหนึ่งในเจ้าของเวที Miss Universe ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง คือ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ได้ครอบครองลิขสิทธิ์เวทีนางงามจักรวาลในปี 1996 และตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่เวที Miss Universe อยู่ภายใต้การนำของทรัมป์ เขาทำให้ทุกคน ‘แน่ใจ’ ว่าคะแนนในรอบชุดว่ายน้ำคือสิ่งสำคัญ และผิวสีแทนคือส่วนหนึ่งของความงาม
ในปี 2015 เป็นปีที่ความเปลี่ยนแปลงมาเยือนเวที Miss Universe อีกครั้ง เมื่อทรัมป์ขายลิขสิทธิ์เวทีนางงามจักรวาลให้กับ IMG Worldwide บริษัทจัดอีเวนต์และเอเจนซีดูแลนางแบบ เนื่องจากทรัมป์ได้ไปวิจารณ์ผู้อพยพชาวเม็กซิกัน รวมทั้งการเคลียร์ทรัพย์สินเพื่อเตรียมลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่การจัดแคมเปญหาเสียงทั่วทั้ง 50 รัฐนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก
ยุคสมัยแห่งความงามและการขับเคลื่อนสังคม
ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่เวทีนางงามจักรวาลอยู่ภายใต้การนำของ IMG Worldwide เราได้เห็นความหลากหลายมากขึ้นในเวทีแห่งนี้ ทั้งการมีผู้เข้าประกวดเป็นหญิงข้ามเพศ, เลสเบียน และผู้ชนะที่เป็นสาวผิวสีในรอบเกือบ 10 ปี
นอกจากนี้ รอบตอบคำถามก็เพิ่มความเข้มข้นในการทดสอบไหวพริบของสาวงาม ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, การช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก รวมถึง Social Movement หรือการขับเคลื่อนทางสังคม
การประกวด Miss Universe ดำเนินมามากกว่า 70 ปีแล้ว และเปลี่ยนมือเจ้าของเวทีมาหลายครั้ง ล่าสุด ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ลิขสิทธิ์ Miss Universe ตกมาอยู่ในมือของคนไทย คือ ‘แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JKN Global Group บริษัทด้านคอนเทนต์สาระบันเทิงชั้นนำของไทย ที่ซื้อลิขสิทธิ์การประกวด Miss Universe ต่อมาจาก IMG Worldwide ด้วยมูลค่ารวมถึง 800 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 2023 (ตามเวลาในประเทศไทย) ‘แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที Miss Universe ระบุถึงความตั้งใจของเธอในการเปลี่ยนแปลงเวที Miss Universe ให้เป็นเวทีที่จะส่งเสริมพลังของผู้หญิงทั่วทั้งโลก นำโดยผู้หญิง ถือครองโดยผู้หญิงข้ามเพศ เพื่อผู้หญิงทุกคน โดยเวที Miss Universe จะกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จะช่วยยกระดับผู้หญิงทุกคนให้แข็งแกร่งขึ้น และไม่ถูกใช้เป็นวัตถุทางเพศ แต่สามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
สุนทรพจน์ดังกล่าว นับว่าสร้างความชัดเจนอย่างมากให้กับการประกวด Miss Universe ครั้งต่อ ๆ ไปว่า เวทีนี้กำลังมองหาสาวงามแบบไหน และเมื่อพิจารณาดูแล้วถือว่าทิ้งห่างแนวคิดเมื่อ 70 ปีก่อนอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นของการโปรโมตชุดว่ายน้ำ
อ้างอิง : Insider, Miss Universe
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส