เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (17 ม.ค.) มอร์นิง คอนซัลต์ (Morning Consult) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านธุรกิจระดับโลกของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จากการสำรวจชาวอินเดีย 1,000 คน พบว่า 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามทางทหารใหญ่ที่สุดรองลงมาจากจีน โดยแซงหน้าศัตรูคู่ปรปักษ์สำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง ‘ปากีสถาน’ เสียอีก
สำหรับรายละเอียดของผลการสำรวจนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลถึงความไม่ค่อยพอใจนี้ว่า ชาติเหล่านี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสงครามในยูเครน โดย 26% ตำหนิว่าสหรัฐฯ คือต้นเหตุ ในขณะที่ 18% มองว่าเป็น NATO ส่วนอีก 38% มองว่าเป็นรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมคะแนนของสหรัฐฯ และ NATO เข้าด้วยกันแล้ว ถือว่ามากกว่าที่ชาวอินเดียไม่พอใจรัสเซียเสียอีก
ซอนเน็ต ฟริสบี (Sonnet Frisbie) และ สกอตต์ มอสโควิตซ์ (Scott Moskowitz) ผู้จัดทำการสำรวจดังกล่าว เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ เป็นไปอย่างอบอุ่นในฐานะ 2 ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก และยิ่งแต่ละประเทศมีประเด็นความตึงเครียดกับจีนเหมือนกันด้วยแล้ว ทำให้ทั้งสองใกล้ชิดกันมากขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า ชาวอินเดียไม่เคยไว้วางใจสหรัฐฯ อย่างแนบสนิท โดยชาวอินเดียจำนวนมากมองว่า สหรัฐฯ คือต้นเหตุแห่งความวุ่นวายในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงความกังวลที่ว่า สหรัฐฯ อาจกำลังหาประโยชน์บางอย่างจากอินเดีย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจกดดันให้อินเดียต้องเลือกข้างในช่วงเวลาข้างหน้าสักวันหนึ่ง
โดยกลยุทธ์ดังกล่าว คือ การสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์, การทูต และความมั่นคง เพื่อหวังให้อินเดียเข้าร่วมเป็นพรรคพวกในการกีดกันจีน ซึ่งตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงทะเลาะกับจีน สหรัฐฯ ก็จะญาติดีกับอินเดียต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า เป็นการเผชิญความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นเลย ที่อินเดียจะต้องตกอยู่ท่ามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ แม้ว่าอินเดียจะมีข้อพิพาทกับจีนก็ตาม
ทั้งนี้ ความกังวลของชาวอินเดียไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีมูลความจริง เนื่องจากการเจรจาหลาย ๆ อย่างเป็น “สัญญาปากเปล่า” โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการบุกตลาดสหรัฐฯ ของอินเดีย ที่ยังไม่มีความชัดเจน และท่าทีของสหรัฐฯ ที่บ่ายเบี่ยงจะให้ในสิ่งที่อินเดียต้องการ
สำหรับ ‘จีน’ ประเทศที่ชาวอินเดียมองว่าเป็นภัยคุกคามทางทหารใหญ่ที่สุด อันเนื่องมาจากเหตุผลด้านข้อพิพาทระหว่างพรมแดนที่ยืดเยื้อยาวนาน และตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2020
ที่มา : Global Times, WION
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส