ใครที่เป็นทาสแมว อยากให้สูดหายใจลึก ๆ ก่อนอ่านเรื่องนี้ ถ้าไม่อยากหัวร้อนแบบชาวโซเชียลเกาหลีใต้ที่ออกมาสาปส่ง และขอให้สัตวแพทย์ต้นเรื่องเปิดเผยตัวตนของมนุษย์ใจร้ายที่ทำร้ายน้องแมว เพียงเพื่อใบหน้าของตัวเองจะไม่ต้องเป็นรอย โดยไม่ได้คำนึงว่าสัตว์จะต้องเจ็บปวดหรือไม่
เรื่องนี้โด่งดังขึ้นหลังจาก คิมมยองชอล (Kim Myung Chul) สัตวแพทย์แมวและ ยูทูบเบอร์ชื่อดังของเกาหลีใต้ นำเรื่องนี้มาเล่าในช่องยูทูบของตัวเอง โดยบอกว่า ลูกค้ารายหนึ่งซึ่งเป็นคนดังในเกาหลี ส่งแมวมาให้เขารักษาที่คลินิก แต่สิ่งที่ทำให้เขาตกใจคือ เล็บของแมวตัวดังกล่าวถูกถอดออกไปจนหมด และที่ช็อกไปกว่านั้นคือ คำตอบจากเจ้าของแมวที่บอกว่าทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้มันข่วนหน้า เพราะอาจจะกระทบต่องานที่เขาทำอยู่
สัตวแพทย์คิม อธิบายว่าการตัดเล็บแมวเป็นกระบวนการที่เจ็บปวด โดยพื้นฐานแล้วคุณจะต้องตัดข้อนิ้วของแมวเพื่อหยุดการงอกใหม่ของกรงเล็บ “การตัดเล็บแมวก็เหมือนการตัดนิ้วคน มันเกี่ยวข้องกับการตัดข้อต่อ และเล็บก็จะไม่งอกขึ้นมาอีก”
จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ แมวจะต้องรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก หลังถูกตัดเล็บหรือแม้แต่ตอนที่มันหายเป็นปกติแล้ว ความหวาดกลัวนี้จะอยู่กับแมวตลอดไป
เล็บแมวสำคัญยังไง
จริงๆ แล้วเล็บก็เปรียบเหมือนอาวุธของแมว โดยเฉพาะแมวจร หรือแมวที่เลี้ยงนอกบ้านหากไม่มีเล็บ เมื่อมีศัตรูหรือผู้บุกรุก ก็อาจป้องกันตัวได้ยาก นิสัยการลับเล็บของแมวจึงเหมือนสัญชาตญาณการวางอาณาเขตของแมว แต่ติดตรงที่พวกมันจะชอบมาลับเล็บกับโซฟา หรือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นโปรดในบ้านของเรานี่แหละ ยิ่งถ้าใครเป็นทาสแมวแต่เนื้อตัวไม่มีรอยเล็บ อาจจะถูกเรียกว่าเลี้ยงแมวปลอมก็ได้
ควรตัดเล็บแมวไหม
ถ้าเลี้ยงแบบปล่อย หรือให้ออกมาปีนต้นไม้บ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องตัดแต่ถ้าเลี้ยงไว้แต่ในบ้าน หรือในห้อง การตัดเล็บน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีต่อทั้งเจ้าของและเฟอร์นิเจอร์ ยิ่งใครเลี้ยงหลายตัว เวลาตบตีกัน น้องแมวตัวที่อ่อนแอกว่าก็อาจจะไม่เจ็บหนัก โดยเฉพาะแผลที่ดวงตา พลาดพลั้งไปอาจเกี่ยวตาบอดได้
แต่ก็ใช่ว่าแมวที่อยู่แต่ในบ้าน มีของเล่นสำหรับฝนเล็บจะไม่ต้องตัดเล็บเสมอไป เพราะถ้าแมวไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเล็บอย่างเต็มที่ในธรรมชาติ เล็บแมวอาจจะยาวจนจิกเข้าไปในนิ้วได้ เพราะเล็บแมวมีสัณฐานโค้งเข้าหาตัว ก็เหมือนคนเป็นเล็บขบ
สุดท้ายแล้วการตัดเล็บแมว เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ คงต้องกลับมาถามตัวเราเอง ก่อนว่า การจะเลี้ยงสัตว์สักตัว เรามีความพร้อมมากแคไ่หน ไม่ใช่อยากเลี้ยง แต่เลือกที่จะทำร้าย
ที่มา : koreaboo Cornell University College of Veterinary Medicine
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส