ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 18% ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัวนี้ กำลังเจออุปสรรคสำคัญนั่นก็คือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า ตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วมากกว่า 11 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ที่ 10 ล้านคน แต่อุตสาหกรรมที่กำลังจะสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศอีกครั้ง กำลังเจออุปสรรคสำคัญนั่นก็คือ ‘การขาดแคลนแรงงาน’
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำเป็นต้องเพิ่มแรงงานให้ได้มากกว่า 17,000 ตำแหน่งขึ้นไป เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่เชียงใหม่ต้องการเพิ่มแรงงานอีก 9,000 ตำแหน่ง และชลบุรีต้องการแรงงานเพิ่มอีก 3,000 ตำแหน่ง
นายกฤษฎา ตันสกุล ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอาจจะแย่ลงมากกว่าดีขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กำลังเดินทางเข้ามา ในขณะที่โรงแรมกลับขาดแคลนแทบทุกตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่พนักงานต้อนรับ, พนักงานยกกระเป๋า, แคชเชียร์ หรือแม้แต่ผู้จัดการโรงแรมก็ยังขาดแคลน
ททท. คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2566 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทะลุ 25 ล้านคน ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้มากกว่า ททท. ที่ 30 ล้านคน รวมถึงคาดการณ์ตัวเลขรายได้ว่าอาจจะมากกว่า 3 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถ้าปัญหาแรงงานขาดแคลนยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็เป็นไปได้ยากที่ประเทศไทยจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 25 – 30 ล้านคน ไม่ต้องนับถึงตัวเลขรายได้ที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะพลาดเป้าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นายชำนาญยังระบุอีกว่า แม้จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าแรง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัวนี้อาจทำกำไรได้ลดลง
นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ระบุว่า มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำกำไรได้ในตอนนี้ เพราะโรงแรมต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายค่าแรงที่ดึงดูดใจมากพอที่จะรั้งพนักงานเอาไว้ในช่วงเวลาแบบนี้
การท่องเที่ยวของประเทศไทยเฟื่องฟูถึงขีดสุดในช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสิ้นปี โดยในช่วงเวลานั้น โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเกือบ 40 ล้านคน และทันทีที่เกิดโรคระบาดขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมากเหลือเพียง 6.7 ล้านคนเท่านั้นในปี 2563 และในปี 2564 ก็อยู่ในระดับที่น่าใจหายคือ 420,000 คน
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานยังอีกระบุว่า ในช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีแรงงานราว 7.7 ล้านคน และลดลงเหลือเพียง 3.9 ล้านคน เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น โดยแรงงานที่หายไปนั้น 6.6% ถูกปลดออก และต้องกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง โดยเลือกประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ขณะที่อีก 20% มองหางานใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น และอีก 20% ที่เหลือเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง
ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า แรงงานที่ถูกปลดออกและเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองนั้น รู้สึกมั่นคงมากขึ้นกับการเป็นเจ้าของกิจการ เพราะพวกเขาไม่ต้องกังวลกับการปลดพนักงานอีกต่อไป และมันไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยากเลยว่าพวกเขาจะไม่หวนคืนสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกแล้ว
นอกจากนี้ ดร.วัชรี ยังให้ความเห็นอีกว่า แรงงานที่มองหางานใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ถ้าพวกเขาได้รับค่าแรงมากกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันก็แทบจะแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่กลับมา เว้นเสียแต่ว่าโรงแรมจะเพิ่มค่าแรงให้มากพอ เพื่อดึงดูดใจแรงงานให้กลับมาทำงานอีกครั้ง และนั่นย่อมหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กอาจมีสายป่านที่ไม่ยาวพอที่จะต่อสู้กับโรงแรมใหญ่ ๆ ในการแย่งพนักงานมาได้
แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนงูกินหาง แต่ นายชำนาญ ระบุว่า “เรื่องนี้ยังพอมีทางแก้ไข” นั่นก็คือ การให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จับคู่กันระหว่างตำแหน่งงานที่ว่าง และนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน เพื่อลดต้นทุนในการจ้างงานพนักงาน ในขณะเดียวกันนักศึกษาก็ได้ฝึกประสบการณ์ในสถานที่ทำงานจริง และได้รับค่าตอบแทนที่แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดไปสู่อาชีพในอนาคต
“ด้วยมาตรการนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ภายในสิ้นปี 2566 นี้” นายชำนาญกล่าว
ที่มา : Nikkei
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส