วันที่ 7 มกราคม 2566 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตคลองสามวา เพื่อรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เกษตรกร และส่งเสริมประโยชน์จากการไม่เผาชีวมวล ตามภารกิจในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566

จากการตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมจาก GISTDA ทางกรุงเทพมหานครพบว่า จุดที่พบการเผา (Hot Spot) ในปี 2565 มีจำนวน 36 จุด กระจายอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก จำนวน 18 จุด, เขตคลองสามวา จำนวน 7 จุด และเขตลาดกระบัง จำนวน 11 จุด จึงต้องรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการสร้างการรับรู้ การอบรมสาธิต การประชาสัมพันธ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา โดยให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรน้อยที่สุด
การลงพื้นที่เขตคลองสามวาวันนี้ (7 ม.ค. 66) นายพรพรหมได้เยี่ยมชมการเกี่ยวข้าวและการอัดฟางของผู้ให้บริการอัดฟาง รวมถึงการเก็บรักษาฟางอัดก้อนของ นายพรชัย เขียวอ่อน ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดฟางพร้อมรถแทรกเตอร์ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำรถดังกล่าวไปเก็บฟางหลังจากการทำนา แล้วนำมาอัดก้อนเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีต้นทุนเพียง 25 บาทต่อก้อน

สำหรับฟางอัดก้อนนั้นสามารถนำไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารสัตว์, ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตวัสดุกันกระแทกสำหรับขนส่งสินค้าและอาหาร รวมถึงผู้ผลิตพลังงานทางเลือก ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของฟางให้เกิดรายได้ และลดการเผาชีวมวล ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 กิจกรรม ตามข้อเสนอของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหา และสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาตอซังข้าวและวัสดุทางการเกษตร ประกอบด้วย
- กิจกรรมนำฟางข้าวออกจากที่นา โดยประสานผู้นำเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ในการช่วยเหลือนำฟางข้าวออกจากพื้นที่ให้เกษตรกร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- กิจกรรมส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว
- กิจกรรมเครื่องอัดฟางพร้อมรถแทรกเตอร์ ด้วยการประสานงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อให้ข้อมูลการให้เงินทุนและสินเชื่อ เพื่อให้บริการรถอัดฟางแก่เกษตรกรในพื้นที่
- กิจกรรมโรงเก็บฟางข้าว โดยประสานงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อให้ข้อมูลการให้เงินทุนและสินเชื่อแก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
- กิจกรรมสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกรในการสูบน้ำเข้านา สำหรับหมักตอซังด้วยจุลินทรีย์