ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่า และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในญี่ปุ่นต่างงัดกลยุทธ์เด็ดออกมาเรียกลูกค้า และกระตุ้นการจับจ่าย โดยเฉพาะ ‘โอกาสพิเศษ’ อย่างวันวาเลนไทน์นี้ ที่หญิงสาวหลายคนกำลังมองหาของขวัญ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่หลายห้างพยายามนำเสนอ คือ ‘ผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน’ หรือตามแนวคิด SDGs นั่นเอง

ห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายะ ได้นำช็อกโกแลต Truffe SDGs มาวางจำหน่ายภายในร้าน โดยตั้งราคาสูงถึงชิ้นละ 2,401 เยน (ราว 610 บาท) โดยช็อกโกแลตดังกล่าวมีส่วนผสมของใบชา ซึ่งปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้าง และนำไปบ่มในถังวิสกี้ที่ถูกทิ้ง เพื่อให้ช็อกโกแลตดูดซับกลิ่นของวิสกี้ ถือเป็นกระบวนการใช้ของเหลือทิ้งที่น่าทึ่งของชาวญี่ปุ่น

  • People shop for chocolates ahead of Valentine's Day
  • People shop for chocolates ahead of Valentine's Day

ทั้งนี้ โฆษกของห้างทาคาชิมายะ ระบุว่า แนวคิดเรื่องความยั่งยืนกำลังดึงดูดใจผู้บริโภคในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และสิ่งนี้กลายเป็นแรงจูงใจในการซื้อสินค้าของลูกค้า

ขณะเดียวกัน ห้างสรรพสินค้าโซโก แอนด์ เซบุ ในย่านอิเกบูกูโระของโตเกียว ได้คัดเลือกช็อกโกแลตจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน เช่น การช่วยเหลือผู้ปลูกโกโก้ให้บรรลุความยั่งยืนด้วยตนเอง โดยยอดขายส่วนหนึ่งของช็อกโกแลตเหล่านี้ จะถูกนำไปบริจาคเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัตถุประสงค์อื่น ๆ

ทางด้าน ห้างสรรพสินค้าไดมารู มัตสุซาคายะ แม้จะไม่ได้นำเสนอสินค้าที่แปลกใจ แต่จูงใจลูกค้าด้วยการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืน คือ การอนุญาตให้พนักงานหญิงทำงานตามกำหนดเวลาที่ขึ้นตรงกับไลฟ์สไตล์ของพวกเธอ ส่วนห้างสรรพสินค้าอิเซตัน มิตซูโคชิ เลือกจูงใจลูกค้าด้วยการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่ไม่มีส่วนผสม หรือความเกี่ยวข้องกับสัตว์

ความเคลื่อนไหวของห้างสรรพสินค้าเหล่านี้มีที่มาจากพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้คนจำนวนมากขึ้นหันมาใส่ใจพฤติกรรมการกินของตนเอง และมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขามีแนวโน้มจะจ่ายเงินซื้อสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนเหล่านี้มากกว่าสินค้าทั่ว ๆ ไป แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าก็ตาม

SDGs หรือ Sustainable Development Goals คือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย ที่ครอบคลุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของความสมดุล, การขจัดความยากจนและหิวโหย, การเคารพซึ่งกันและกัน, เพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเอง และคุณภาพชีวิตที่อย่างเท่าเทียม เป็นต้น โดยเป้าหมายทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2030

ที่มา : THE JAPAN TIMES, SDG Move

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส