วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคเอกชนอย่าง ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ True AIS DTAC และ NT รวมถึงผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่าง LINE โดยได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร
- ควบคุมและจัดการ ชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม
- ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย
- หารือธนาคารสมาชิกเพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัย แชร์เทคนิค และแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม Mobile Banking Application กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service และการเพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตนด้วย Biometrics Comparison เช่น การสแกนใบหน้า, การสแกนลายนิ้วมือ
นายยศ ยังเปิดเผยอีกว่า หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที และสามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ
ทางด้าน นายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร หรือ TB-CERT กล่าวว่า การหลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเสียหายจากแอปดูดเงินนั้น มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้โทรศัพท์ในระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ (Android) เนื่องจากสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนอกเหนือ Store อย่างเป็นทางการได้ และสามารถติดตั้งไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแอปปลอม ทำให้การดำเนินการของมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่จะกระทำใน 3 รูปแบบ คือ
1. หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ทำให้กังวล และใช้ข้อความ SMS หรือบัญชีโซเชียลมีเดีย เป็นการใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหลอกให้เงินรางวัล, เงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชี LINE ปลอมของมิจฉาชีพ
2. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปปลอม (เช่น ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปพลิเคชันใด ๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้
ทั้งนี้ Accessibility Service เป็นฟังก์ชันสำหรับช่วยเหลือผู้พิการหรือผู้ที่มีปัญหาในการสั่งการตามปกติ เช่น ช่วยอ่านเนื้อหาอีเมลให้ฟัง, เขียนอีเมลให้ตามคำบอก รวมถึงการสั่งการโปรแกรมต่าง ๆ แทน ทำให้ฟังก์ชันนี้กลายเป็นกลไกหลักของมิจฉาชีพในการควบคุมมือถือของเหยื่อ
3. ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่าง ๆ โดยรูปแบบของแอปดูดเงินที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชนมี 3 รูปแบบ คือ
- หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันจำพวกรีโมตจาก Play Store (Store อย่างเป็นทางการของระบบปฎิบัติการ) เช่น TeamViewer, AnyDesk เป็นต้น จากนั้นมิจฉาชีพจะรีโมตเข้ามาดูและควบคุมมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงินออกทันที โดยกรณีนี้เกิดขึ้นมากในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
- หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย (.apk) คือ เมื่อติดตั้งแล้วจอมือถือของเหยื่อจะค้าง มิจฉาชีพจะรีโมตมาควบคุมมือถือของเหยื่อ และโอนเงินออกทันที เช่น แอปพลิเคชัน DSI, สรรพากร, Lion-Air, ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด
- หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย (.apk) ที่ควบคุมมือถือของเหยื่อ แล้วรอประชาชนเผลอ ค่อยแอบโอนเงินออกภายหลัง เช่น แอปพลิเคชันหาคู่ Bumble, Snapchat ซึ่งรูปแบบนี้มิจฉาชีพยังคงใช้อยู่
ดร. กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของ TB-CERT ได้แนะแนวทางการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพว่า มีจุดสังเกตที่ต้องระวัง คือ มิจฉาชีพมักจะแนะนำให้เหยื่อคัดลอกลิงก์ เพื่อไปเปิดในเว็บบราวเซอร์ เพื่อเข้าเว็บปลอม จากนั้นจะหลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันของมิจฉาชีพ แล้วมือถือจะขอสิทธิ์ในการติดตั้งแอปที่ไม่รู้จัก
หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะพยายามให้ตั้ง PIN หลาย ๆ ครั้ง และหวังให้เหยื่อเผลอตั้ง PIN ที่ซ้ำกับ PIN ที่ใช้เข้า Mobile Banking ของธนาคาร หลังจากนั้นก็จะหลอกให้เหยื่อเปิดสิทธิ์ การช่วยเหลือพิเศษ หรือ Accessibility Service โดยชวนคุยจนไม่ทันอ่านเนื้อหาที่ขึ้นมาเตือน
ดังนั้น ประชาชนควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store ซึ่งเป็น Store อย่างเป็นทางการของระบบปฎิบัติการเท่านั้น และไม่ควร Add LINE หรือช่องทางแชตอื่น ๆ คุยกับคนแปลกหน้า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากแอปดูดเงิน ดร. กิตติ ยังได้แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ ดังนี้
- ตรวจสอบมือถือว่าเปิดแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใต้ Accessibility Service หรือไม่ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่าเรารู้จักและทราบเหตุผลของการเปิดใช้งานทุกโปรแกรม หากไม่ทราบให้รีบปิด
- เปิดใช้งาน Google Play Protect เพื่อตรวจสอบการติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย หากเจอให้ Uninstall ทันที
- ติดตั้งแอปพลิเคชัน Endpoint Protection หรือ Antivirus บนมือถือเพื่อดักจับ และป้องกันแอปพลิเคชันอันตราย หรือมัลแวร์ต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือ การกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10 – 20 วินาที แต่หากทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด และปิด Wi-Fi หลังจากนั้นให้ติดต่อธนาคาร และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
ปัจจุบัน รูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายและมีวิธีการใหม่ ๆ เสมอ ดังนั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากกลโกง สมาคมธนาคารไทยได้สรุป 8 พฤติกรรมปลอดภัยให้ประชาชนปฎิบัติตาม เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกมิจฉาชีพหลอก ดังนี้
- อุปกรณ์ปลอดภัย – ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ถูกปลดล็อก (Root/Jailbreak) หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย และตั้งล็อกหน้าจอ
- ตัวตนปลอดภัย คือการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในสื่อสาธารณะเกินความจำเป็น
- รหัสปลอดภัย คือการตั้งค่ารหัส (Password) ที่ไม่ง่ายเกินไป ไม่ซ้ำกับรหัสการใช้ทั่วไป และไม่บอกผู้อื่น
- สื่อสารปลอดภัย คือการไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า และไม่แสดงตัวก่อน หากถูกถามให้ตรวจสอบคู่สนทนาให้แน่ชัด
- เชื่อมต่อปลอดภัย คือการไม่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสัญญาณ Wi-Fi สาธารณะ หรือฟรี
- ดาวน์โหลดหรือติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ได้รับรอง โดยผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (Official Store) เช่น Play Store หรือ App Store เท่านั้น โดยไม่คลิกจากลิงก์ และตรวจเช็กการอนุญาต หรือ Permission ของแอพปลิเคชัน และสังเกตการขออนุญาตเข้าใช้งานอุปกรณ์หรือข้อมูลที่ไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งานและกับประเภทการทำงานของแอปพลิเคชัน
- มีสติรอบคอบก่อนการทำธุรกรรมทุกครั้ง อ่านข้อความที่ขึ้นเตือนบนเครื่องโทรศัพท์มือถือให้ถี่ถ้วน ไม่คลิกลิงก์จาก SMS, ข้อความแชต หรืออีเมลที่ถูกส่งมาจากแหล่งที่ไม่รู้จัก หรือไม่น่าเชื่อถือ
- ศึกษาและติดตามข่าวสารการใช้งานเทคโนโลยีเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยหมั่นตรวจเช็กการตั้งค่า ไม่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (Install Unknown Apps) และใช้งาน Antivirus Software
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส