เป็นเวลาเกือบครบ 2 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศซีเรีย ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในทั้งสองประเทศ ทะลุ 46,000 รายแล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกีและซีเรีย คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตุรกีที่ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิต 40,642 รายแล้ว และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและอพาร์ตเมนต์ของประชาชนมากกว่า 345,000 หลัง
ทางด้านซีเรีย มีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 5,800 ราย ซึ่งถือว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากก่อนหน้านี้มากนัก โดยเจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีเรื่องที่น่ากลัวกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประสบภัยที่ถูกช่วยเหลือและรอดชีวิตจากแผ่นดินไหวมาได้ เริ่มเสียชีวิตจากการขาดน้ำและอาหาร รวมถึงการติดเชื้อ
เจ้าหน้าที่กู้ภัยในตุรกี เปิดเผยว่า เขาและหน่วยกู้ภัยจากคีร์กีซสถานได้ช่วยเหลือครอบครัวชาวซีเรียหนึ่งได้สำเร็จในเมืองอันตาเกีย จังหวัดฮาเตย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของตุรกี โดยพ่อ แม่ และลูก ๆ ทั้ง 3 คน สามารถรอดชีวิตออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ลูก ๆ ทั้งหมดกลับเสียชีวิตเนื่องจากการขาดน้ำ
แม้ว่าจะมีรถพยาบาลจอดรออยู่มากกว่า 10 คัน แต่เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ทำลายเส้นทางคมนาคมทั้งหมด และรถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และเหตุการณ์ที่คล้ายกันแบบนี้กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในซีเรีย ซึ่งความตึงเครียดเรื่องสงครามกลางเมือง ทำให้บางพื้นที่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นถูกหยุดชะงักไว้
เดวิด บีสลีย์ (David Beasley) ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (UN World Food Programme : WFP) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า รัฐบาลของตุรกีและซีเรียให้ความร่วมมือกับ WFP เป็นอย่างดีในการกระจายความช่วยเหลือ แต่พื้นที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียนั้น ถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังทำสงครามกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล ทำให้หน่วยงานไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้
WFP ได้รับรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีอาหารแล้ว และพยายามร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน รวมถึงการเรียกร้องให้มีการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติมจากตุรกี ซึ่งบีสลีย์ระบุว่า ปัญหานี้เป็นคอขวดในการส่งมอบความช่วยเหลืออย่างมาก และเป็นเรื่องที่ต้องถูกแก้ไขอย่างทันที
“เวลากำลังจะหมดลง เช่นเดียวกับที่เรากำลังหมดเงิน การดำเนินงานของ WFP มีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการรับมือเหตุแผ่นดินไหว ดังนั้น หากยุโรปไม่ต้องการผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ เราก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนที่เราต้องการ” บีสลีย์กล่าวเสริม
ไม่เพียงแต่น้ำและอาหารที่ขาดแคลนเท่านั้น สุขภาพและความสะอาดก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อโรคในพื้นที่ เนื่องจากอาคารหลายหมื่นหลังที่พังทลายลง ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัยเสียหาย และทำให้ของเสียจำนวนมากไหลลงแม่น้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป
ฟาเรตติน โคคา (Fahrettin Koca) รัฐมนตรีสาธารณสุขของตุรกี เปิดเผยว่า การติดเชื้อซึ่งทำให้ประชาชนท้องร่วง ไม่ได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนในตอนนี้ โดยสิ่งสำคัญที่เขามองว่าจำเป็นเร่งด่วนคือการรับมือกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น และเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
ที่มา : Reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส